ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตา "อาเซียน - จีน" ตกลงเจรจาระเบียบปฏิบัติทะเลจีนใต้ที่มีผลบังคับทางกฎหมาย


FILE - Royal Australian Navy HMAS Adelaide cruises alongside landing crafts with Philippine Marines and Australian troops as they conduct a joint Humanitarian Aid and Disaster Relief (HADR) exercise off Subic Bay in northwestern Philippines.
FILE - Royal Australian Navy HMAS Adelaide cruises alongside landing crafts with Philippine Marines and Australian troops as they conduct a joint Humanitarian Aid and Disaster Relief (HADR) exercise off Subic Bay in northwestern Philippines.

นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศยังคงเคลือบแคลงสงสัยต่อการเจรจาระหว่างจีนกับสมาคมอาเซียน หลังจากทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะเริ่มเจรจาเรื่องการจัดทำระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขข้อพิพาทในเรื่องนี้

ผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน 10 ประเทศ และรัฐบาลจีน ประกาศความตั้งใจที่จะเริ่มการเจรจาเรื่องการจัดทำระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ ที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ระหว่างการประชุมที่กรุงมะนิลาเมื่อวันจันทร์

การเจรจาครั้งนี้มีขึ้นหลังจากมีการนำกรอบการปฏิบัติแบบหลวมๆ มาใช้ในการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ มาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว

โดยเมื่อปี ค.ศ. 2002 จีนและอาเซียน ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติสำหรับประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้ หรือ DOC ซึ่งไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากยังเกิดการรุกล้ำพื้นที่ การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ และการกระทำที่นอกเหนือปฏิญญาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามเร่งเร้าให้อาเซียนและจีนหาทางจัดการข้อพิพาทในทะเลจีนใต้รวมทั้งการจัดทำระเบียบปฏิบัติที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่ดูเหมือนกรุงวอชิงตันจะจับตาท่าทีล่าสุดของอาเซียนและจีนอย่างระมัดระวัง

โฆษกสำนักงานฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอรอน ทาร์เวอร์ กล่าวกับ VOA ว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าใจว่าอาเซียนและจีนยังไม่สามารถตกลงกันได้ในส่วนของเนื้อหาต่างๆ ใน Code of Conduct เพียงแต่จะมีการหารือกรอบในเบื้องต้นว่าจะจัดทำเอกสารที่ว่านี้อย่างไร”

และว่า “ระเบียบปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ จะต้องจัดทำขึ้นจากกรอบของปฏิญญาที่มีอยู่ และเป็นไปตามกฎหมายสากล โดยเฉพาะในส่วนที่ระบุถึงเสรีภาพในการเดินเรือ เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้”

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เก็ง ฉ่วง กล่าวยืนยันว่า ภายในปีหน้า จีนและอาเซียนจะหารืออย่างคร่ำเคร่งเรื่องระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้นี้

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ ต่างยังคงเคลือบแคลงสงสัยต่อการเจรจาล่าสุดระหว่างจีนกับอาเซียน ว่าจะทำให้เกิดความคืบหน้าในประเด็นทะเลจีนใต้ได้จริงหรือไม่

คุณเกรกอรี่ โพลลิ่ง ผอ.โครงการ Asia Maritime Transparency Initiative ที่ Center for Strategic and International Studies ชี้ว่า ที่ผ่านมาอาเซียนและจีนได้เจรจาเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งประเด็นสำคัญคือทั้งสองฝ่ายอาจไม่ต้องการให้เกิดระเบียบปฏิบัติที่มีผลทางกฎหมายขึ้นจริงๆ รวมถึงคำถามที่ว่าประเทศต่างๆ จะร่วมมือกันจัดการแหล่งประมงและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ในบริเวณนั้นอย่างไร? และจะบังคับใช้ตามกฎหมายได้จริงหรือไม่?

ทางด้านคุณโรเบิร์ต แมนนิ่ง แห่ง Atlantic Council ให้ความเห็นว่า ระเบียบปฏิบัติที่จะเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการห้ามสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ ก็ตาม ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนั้น ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่จีนทำอยู่

นักวิเคราะห์ผู้นี้ระบุด้วยว่า ดูเหมือนจีนต้องการจะเจรจาเรื่องนี้เป็นรายประเทศโดยมีประเด็นทางเศรษฐกิจหรือการลงทุนพ่วงไปด้วยมากกว่า เช่น การที่จีนเสนอให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ฟิลิปปินส์ หรือข้อตกลงขายอาวุธให้กับไทยและมาเลเซียซึ่งดูเหมือนยุทธวิธีดังกล่าวจะได้ผลไม่น้อยเช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Nike Ching รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงเสนอ)

XS
SM
MD
LG