ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไต้หวันชี้ ปัญหาด้านซอฟต์แวร์ป่วนแผนส่งเครื่องบิน เอฟ-16 ของสหรัฐฯ


A Taiwanese Air Force flag bearer passes by one of the newly commissioned upgraded F-16V fighter jets at Air Force base in Chiayi in Taiwan, Nov. 18, 2021.
A Taiwanese Air Force flag bearer passes by one of the newly commissioned upgraded F-16V fighter jets at Air Force base in Chiayi in Taiwan, Nov. 18, 2021.

ผู้ผลิตเครื่องบินรบสหรัฐฯ ต้องเลื่อนการนำส่งออเดอร์เครื่องบินรบ เอฟ-16 จำนวน 66 ลำออกไปอีกครั้ง เนื่องจากประสบปัญหาด้านซอฟต์แวร์ ตามการเปิดเผยของทางการไต้หวัน

ชิว กั๊ว-เชิง รัฐมนตรีกลาโหมไต้หวันบอกกับผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาในวันพฤหัสบดีว่า เหตุผลที่ออเดอร์เครื่องบินรบนี้ต้องช้าเป็นเพราะประเด็นซอฟต์แวร์ควบคุมการบิน และยืนยันว่า “ตามหลักการแล้วภายในปี ค.ศ. 2026 เครื่องบินทั้งหมด 66 ลำจะถูกนำส่งมา ไม่มีปัญหาใด ๆ เลยเกี่ยวกับเรื่องนี้”

FILE - Taiwanese Defense Minister Chiu Kuo-cheng speaks during a parliament session in Taipei, Taiwan, April 6, 2023.
FILE - Taiwanese Defense Minister Chiu Kuo-cheng speaks during a parliament session in Taipei, Taiwan, April 6, 2023.

เหตุผลของการเลื่อนการนำส่งครั้งนี้ต่างจากการเปิดเผยของ รมต.ชิว ในครั้งก่อนเมื่อต้นเดือนที่ระบุว่า ความล่าช้านั้นเป็นผลมาจากเรื่องของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติคำสั่งซื้อเครื่องบินที่ผลิตโดยบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin Corp) มูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์ของไต้หวันตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2019 และการประกาศการเลื่อนแผนนำส่งออเดอร์นี้เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลไทเปต้องยอมรับ นับตั้งแต่ล็อคฮีด มาร์ติน หันไปมุ่งใส่ใจสถานการณ์ในยูเครนนับตั้งแต่รัสเซียส่งกองทัพบุกประเทศเพื่อนบ้านของตนเมื่อกว่า 15 เดือนก่อน

รอยเตอร์รายงานว่า หากไต้หวันได้รับเครื่องบินรบกลุ่มนี้ตามที่สั่ง กองบินเอฟ-16 ของเกาะที่ปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยนี้จะมีเครื่องบินรบรวมกันถึงกว่า 200 ลำ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว

ทั้งนี้ การสั่งสมสรรพกำลังการรบป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับไต้หวัน ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เกียวกับท่าทีของรัฐบาลกรุงปักกิ่งที่อาจใช้กำลังทหารบุกเข้ายึดเกาะแห่งนี้ที่จีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของตน

ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ไต้หวันออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับความล่าช้าของการนำส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน ‘สติงเกอร์’ (Stinger) มาโดยตลอด หลังผู้ผลิตต่าง ๆ หันไปเน้นการนำส่งผลิตภัณฑ์ของตนให้กับยูเครนเพื่อช่วยในการรับมือการรุกรานของรัสเซีย

ถึงกระนั้น คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยืนยันว่า การนำส่งอาวุธให้กับไต้หวัน คือ ประเด็นที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ

และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวเพิ่งนำเสนอคำแนะนำด้านนโยบาย 10 ข้อแก่สภาคองเกรส ซึ่งหนึ่งในคือ คำแนะนำที่ว่า สหรัฐฯ ควรนำส่งอุปกรณ์ทางทหารที่ “ติดค้าง” ไต้หวันอยู่ได้แล้ว ขณะที่ คำแนะนำข้ออื่น ๆ เป็นเรื่องของการยกระดับความสามารถด้านกลาโหมของไต้หวัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทเปเพิ่งกล่าวว่า เครื่องบินรบ เอฟ-16 จำนวน 2 ลำที่อยู่ในออเดอร์นั้นควรจะมาถึงมือไต้หวันในช่วงเดือนตุลาคมและเดือนธันวาคมของปีนี้ แต่ตารางการจัดส่งก็ถูกเลื่อนไปเป็นระหว่างเดือนกรกฎาคมและเดือนกันยายนของปีหน้าแล้ว

ลิซ ลุทซ์ โฆษกของ ล็อคฮีด มาร์ติน บอกกับสื่อบลูมเบิร์กว่า บริษัทนั้นกำลัง “ทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ”

และในระหว่างการเยือนไต้หวันเมื่อเดือนที่แล้ว ส.ส.ไมเคิล แมคคอล ประธานคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า ตนกำลังพยายามเร่งกระบวนการนำส่งอาวุธให้กรุงไทเปอยู่ โดยระบุว่า “ในเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ผมได้ลงนามอนุมัติการนำส่งทั้งหมดแล้ว และเราก็กำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อเร่งกระบวนการนี้”

ขณะเดียวกัน รูเพิร์ต แฮมมอนด์-เชมเบอร์ส ประธานหอการค้าสหรัฐฯ-ไต้หวัน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ความช่วยเหลือทางทหารจากต่างประเทศให้กับไต้หวันนั้น “เป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งเท่านั้น”

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากรอยเตอร์

XS
SM
MD
LG