ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยเผยโปรตีนใน 'ฟันปลาหมึก' อาจใช้ผลิตหน้ากากและชุดพีพีอีแบบซ่อมแซมตัวเองได้


An octopus holds a cleaning brush during a publicity stunt at Berlin's Sealife aquarium on June 4, 2020.
An octopus holds a cleaning brush during a publicity stunt at Berlin's Sealife aquarium on June 4, 2020.

การเกิดโรคระบาดใหญ่ทำให้หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลประเภทต่าง ๆ เป็นที่ต้องการมากขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในงานวิจัยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่านักวิจัยอาจจะพัฒนาวัสดุโพลิเมอร์ชีวสังเคราะห์ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้จากการสังเคราะห์โปรตีนที่พบในฟันของปลาหมึก

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Materials เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า ทีมนักวิจัยนานาชาติจากเยอรมนี ตุรกี และ Penn State University ในสหรัฐฯ ได้อธิบายถึงวิธีที่พวกเขาสามารถเปลี่ยนโปรตีนที่มีลักษณะเฉพาะที่พบในฟันปลาหมึกให้เป็นวัสดุที่อ่อนนุ่มและสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งอาจนำมาใช้ในการพัฒนา “soft robots" หรือหุ่นยนต์ที่มีความอ่อนนุ่ม และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ทนต่อการฉีกขาดได้

วัสดุที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นักวิจัยบอกว่าวัสดุที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจต้องใช้เวลานานถึง 24 ชั่วโมงในการซ่อมแซมตัวเอง และวัสดุเหล่านั้นมักจะไม่แข็งแรงเหมือนของเดิม

แต่ Abdon Pena-Francesch หัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งล่าสุดนี้ กล่าวว่า วัสดุสังเคราะห์ที่ได้จากโปรตีนในปลาหมึกนี้จะทำให้สามารถย่นระยะเวลาการซ่อมแซมตัวเองจาก 24 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 วินาทีเท่านั้น

นักวิจัยผู้นี้กล่าวอีกว่า การซ่อมแซมตัวเองโดยธรรมชาตินั้นใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยีนี้เหนือกว่าธรรมชาติ และว่า วัสดุชนิดใหม่นี้สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้ 100%

นอกเหนือจากอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแล้ว นักวิจัยกล่าวว่าวัสดุแบบใหม่จากฟันปลาหมึกยังสามารถนำไปใช้งานกับผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่อาจมีรอยฉีกขาดและรอยแตกเล็ก ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายถาวรจากการเคลื่อนไหวซ้ำไปซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแขนหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม หรือขาเทียมด้วย

นักวิจัยชุดนี้กล่าวว่า วัสดุนี้ไม่เพียงแต่สามารถใช้งานได้ดีเท่านั้น แต่ยังสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งหมายถึงสามารถละลายได้อย่างรวดเร็วตามธรรมชาติ ซึ่งนั่นหมายความว่า หน้ากากและอุปกรณ์ทางการแพทย์แห่งอนาคตก็จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

XS
SM
MD
LG