ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาพยนตร์สะท้อนปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทยเตรียมฉายในกัมพูชา


Screenshot shows actor Sarm Heng as rural Cambodian boy Chakra in the film, "Buoyancy." (Courtesy: Causeway Films)
Screenshot shows actor Sarm Heng as rural Cambodian boy Chakra in the film, "Buoyancy." (Courtesy: Causeway Films)
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:27 0:00

ภาพยนตร์เรื่อง Buoyancy ซึ่งแปลเป็นไทยว่า การลอยตัว หรือทุ่นลอยน้ำ เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของแรงงานต่างด้าวนับหมื่นนับพันคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย

ตัวเอกของเรื่อง คือ ‘จักรา’ เด็กชายชาวกัมพูชาวัย 14 ปี ที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับความยากจนของครอบครัวในชนบทกัมพูชา จักราจึงเดินทางข้ามชายแดนเข้าไทย เพื่อไปหางานทำในโรงงาน แต่เขากลับถูกนายหน้าค้าแรงงานพาไปขายให้กับเรือประมงไทยลำหนึ่ง และถูกกัปตันเรือไทยสุดโหดบังคับให้ทำงานหนักเยี่ยงทาส

Buoyancy เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ รอดด์ รัธเจน (Rodd Rathjen) ชาวออสเตรเลีย ที่ทำหน้าที่เขียนบทและกำกับ โดยถ่ายทำในกัมพูชาเป็นภาษาเขมรและภาษาไทย

รัธเจน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าเขามีแผนที่จะฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ตามหมู่บ้านชนบทห่างไกลในกัมพูชา เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจคนเขมร สะท้อนให้เห็นสิ่งที่พวกเขาอาจจะต้องเจอ หากตัดสินใจย้ายถิ่นไปหางานทำในประเทศไทย

ผู้กำกับ Buoyancy ยังบอกด้วยว่าถึงแม้ว่าชาวเขมรจะต้องกระเสือกกระสนหางานทำ เขามองว่ามันไม่คุ้มที่จะต้องเสี่ยงชีวิต หรือทนทุกข์ทรมานขนาดนั้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษหลังจากที่มีการพบว่ามีการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลให้กับประเทศ และยังมีขนาดใหญ่มากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย

หน่วยงานรัฐฯ ได้นำมาตรการหลายอย่างมาใช้เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว เช่น การออกกฎห้ามไม่ให้ใช้แรงงานเด็ก และบังคับให้นายจ้างจัดทำสัญญาจ้างแรงงานประมงทะเล

ปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานต่างด้าวในเมืองไทยประมาณเกือบ 5 ล้านคน ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมาร์ กัมพูชา และทำงานในอุตสาหกรรมการประมง การก่อสร้าง และทำงานบ้าน

ซาม เฮง นักแสดงหน้าใหม่จากกัมพูชา ผู้สวมบทจักราตัวเอกของเรื่อง บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพชีวิตจริงของคนเขมร เขาแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะอยากจะช่วยไม่ให้เยาวชนคนรุ่นหลังต้องตกเป็นเหยื่อถูกหลอกไปใช้แรงงานและต้องทุกข์ทรมานเหมือนตัวละครในภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่อง Buoyancy เปิดตัวสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้รับรางวัลในฐานะที่เป็นภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่มักถูกมองข้ามในบริบทของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

(วรางคณา ชมชื่น เรียบเรียงรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์)

XS
SM
MD
LG