ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'สงครามรัสเซีย-ยูเครน' ต้นเหตุรอยร้าวที่การประชุม จี-20 บาหลี


Russia's Foreign Minister Sergey Lavrov attends a working session on energy and food security during the G-20 Summit in Nusa Dua, Bali, Indonesia, Nov. 15, 2022.
Russia's Foreign Minister Sergey Lavrov attends a working session on energy and food security during the G-20 Summit in Nusa Dua, Bali, Indonesia, Nov. 15, 2022.

ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุมกลุ่ม จี-20 (Group of 20) ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ต่างเผชิญบรรยากาศการประชุมที่ปกคลุมด้วยกลิ่นอายของสงครามในยูเครน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้นำที่ร่วมประชุม "ส่วนใหญ่" ต่างมีหมายจะแถลงการณ์ประณามขั้นรุนแรงต่อรัสเซียที่รุกรานยูเครน

"คาดว่าสมาชิกของกลุ่ม จี-20 ส่วนใหญ่จะร่วมประณามรัสเซีย ซึ่งพวกเขาต่างมองว่าการที่รัสเซียก่อสงครามในยูเครนนั้นคือต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจและมนุษยธรรมทั่วโลกในขณะนี้" เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันอังคาร

แถลงการณ์ของที่ประชุม จี-20 ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่เมื่อปิดการประชุมในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะโดดเดี่ยวรัสเซีย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีประเทศที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้กี่ประเทศ

แหล่งข่าวทางการทูตกล่าวกับวีโอเอว่า ในขณะที่บรรดาผู้นำส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกับ "เสาหลัก 3 ประการ" ว่าด้วยเป้าหมายของกลุ่ม จี-20 ที่อินโดนีเซียเป็นผู้ผลักดัน คือ การออกแบบสร้างสรรค์ด้านดิจิทัล การปรับเปลี่ยนด้านพลังงาน และการปฏิรูปด้านดิจิทัล แต่ในส่วนของแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการประณามรัสเซียนั้นเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกประเทศยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

ในการแถลงเปิดการประชุม ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ในฐานะเจ้าภาพการประชุม จี-20 กล่าวยกย่องผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่ยอมให้ความขัดแย้งเรื่องสงครามในยูเครนเข้ามาขัดขวางวาระสำคัญต่าง ๆ ในการประชุมครั้งนี้

ผู้นำอินโดฯ กล่าวว่า "เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อปกป้องโลกนี้เอาไว้... ประเทศสมาชิกมีหน้าที่รับผิดชอบไม่ใช่เฉพาะแค่ประชาชนในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่เป็นผู้คนทั่วโลก ซึ่งความรับผิดชอบนั้นหมายถึงการยุติสงครามในยูเครน"

และว่า กลุ่มจี-20 ต้องเป็นตัวกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เราไม่ควรสร้างความแตกแยกในประชาคมโลก "เราต้องไม่ยอมให้โลกนี้เข้าสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้ง"

ด้านประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง กล่าวเตือนว่า ไม่ควรมีการนำอาหารและพลังงานมาเป็น "อาวุธ" ในการทำสงคราม "เราต้องต่อต้านการใช้ปัญหาขาดแคลนอาหารและพลังงานเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ใช้เป็นเครื่องมือ หรือเป็นอาวุธในสงคราม"

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวต่อผู้นำกลุ่มจี-20 ผ่านทางวิดีโอจากยูเครน ระบุถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะทำให้สงครามครั้งนี้ยุติลง ซึ่งรวมถึง คำมั่นจากรัสเซียว่า จะยอมรับอธิปไตยเหนือดินแดนของยูเครน และถอนกำลังทหารออกจากดินแดนยูเครน ตลอดจนชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามที่รัสเซียเป็นผู้ก่อขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า อินโดนีเซียได้เชิญให้ประธานาธิบดียูเครนเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย ในขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้ถูกคว่ำบาตรจากการประชุม

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีปูตินได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ให้เข้าร่วมประชุมแทน และเขาอยู่ในห้องประชุมตอนที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวผ่านวิดีโอด้วย ซึ่งต่อมารัฐมนตรีลาฟรอฟได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ยูเครนเองที่เป็นฝ่ายปฏิเสธเข้าร่วมเจรจาสันติภาพ อีกทั้งยังมีข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ให้แก่ทางรัสเซีย

  • ข้อมูลบางส่วนจากเอเอฟพี และรอยเตอร์

XS
SM
MD
LG