ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ร้านอาหารในสหรัฐฯ ใช้หุ่นยนต์ทำงานมากขึ้นในยุคโควิด-19


Restaurant Robot
Restaurant Robot

หุ่นยนต์ที่สามารถทำอาหารได้กำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ โดยความต้องการที่ว่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ร้านอาหารต่าง ๆ พยายามที่จะกำหนดระยะห่างระหว่างพนักงานและลูกค้าในช่วงวิกฤตการระบาดของโคโรนาไวรัส

ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ ร้านอาหาร White Castle จะทดสอบใช้แขนหุ่นยนต์ที่สามารถทอดมันฝรั่งหรือ French fries และทำอาหารอื่น ๆ ได้ โดยหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า Flippy นี้เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Miso Robotics ที่เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย

Jamie Richardson รองประธานร้าน White Castle กล่าวว่า ทางร้านได้พูดคุยกับบริษัท Miso ในเรื่องการร่วมหุ้นกันมาประมาณหนึ่งปีแล้ว และการเจรจาดังกล่าวจริงจังมากขึ้นเมื่อเริ่มมีการระบาดของโควิด-19

Richardson กล่าวว่า หุ่นยนต์ช่วยให้พนักงานมีเวลาไปทำงานอื่น ๆ ได้ เช่น ทำความสะอาดโต๊ะ หรือรับรายการอาหารเพื่อไปส่งให้ลูกค้าที่บ้าน นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่ปราศจากการสัมผัสก็มีความสำคัญต่อลูกค้ามากขึ้นด้วย เขายังบอกด้วยว่าจากนี้ทั่วโลกต้องคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น

ปัจจุบันหุ่นยนต์ Flippy มีสนนราคาอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ พร้อมค่าบริการรายเดือนอีก 1,500 ดอลลาร์ โดยบริษัท Miso มีแผนที่จะให้ผู้ประกอบการร้านอาหารนำหุ่นยนต์ไปใช้โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินค่าซื้อหุ่นยนต์ แต่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนที่สูงขึ้นแทน

หุ่นยนต์ทำอาหารนั้นกลายมาเป็นที่นิยมตั้งแต่ก่อนการระบาดของโคโรนาไวรัส เมื่อโรงพยาบาล โรงอาหารตามมหาวิทยาลัย และสถานที่อื่น ๆ พยายามที่จะลดต้นทุนค่าแรงงานลงด้วยการใช้หุ่นยนต์

ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์พ่อครัว ได้ปรากฏตัวตามร้านอาหารต่าง ๆ มาแล้ว เช่นที่ร้าน Creator ในนครซานฟรานซิสโก

ทั้งนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ชี้ว่าความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 จากการสัมผัสหรือทานอาหารนอกบ้านนั้นอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็มีรายงานเรื่องการแพร่ระบาดของโรคนี้หลายต่อหลายครั้งในหมู่พนักงานร้านอาหารและลูกค้า

Vipin Jain ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้บริหารของ Blendid ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ Silicon Valley คาดว่าในอีกสองปีข้างหน้า เราจะได้เห็นการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น ซึ่งเป็นเพราะผลพวงจากโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนกล่าวว่าการใช้หุ่นยนต์อาจทำให้ความต้องการในด้านแรงงานลดลงได้

Tonya Johnson ผู้อำนวยการฝ่ายบริการโภชนาการที่มหาวิทยาลัย University of Arkansas for Medical Sciences ที่เมืองลิตเติลร็อค ตั้งข้อสังเกตว่า พนักงานในคาเฟ่ของมหาวิทยาลัยเคยใช้เวลาในการทำสลัดวันละ 6 ชั่วโมง แต่เมื่อสองปีที่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้นำหุ่นยนต์ Sally มาใช้ ซึ่งสามารถทำสลัดได้ประมาณวันละ 40 ออเดอร์

การเพิ่ม Sally เข้ามา ทำให้ทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องเปิดรับสมัครพนักงานในครัวอีกต่อไป และเธอคิดว่า การเกิดโรคระบาดใหญ่นี้ทำให้ตระหนักได้ว่าหุ่นยนต์แบบ Sally นั้นมีความจำเป็นมากมายแค่ไหน

XS
SM
MD
LG