ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การกลับเข้าเป็นประธานาธิบดีของรัสเซียเป็นสมัยที่สามของปธน. Vladimir Putin จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐ


Vladimir Putin เพิ่งปฏิญญาณตน กลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สามเมื่อวันจันทร์ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า การกลับมาของผู้นำรัสเซียคนนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐ

รัสเซียมีพิธีสวนสนามเมื่อวันพุธ เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 67 ปีที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประธานในพิธี คือ Comrade Commander-in-Chief Vladimir Putin ซึ่งเพิ่งปฏิญญาณตน กลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สาม เมื่อวันจันทร์ คำถามที่หลายคนอยากรู้คำตอบก็คือ การกลับมาของผู้นำรัสเซียคนนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐ


หลังการปฏิญญาณตนเข้ารับตำแหน่งปธน. อีกครั้งหนึ่ง นาย Vladimir Putin ลงนามในคำสั่งที่ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่แทรกแซงในกิจการภายในประเทศ และเคารพในผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และยังเรียกร้องให้มีการ “รับรองอย่างหนักแน่น” ด้วยว่า ขีปนาวุธขององค์การเนโต้ที่วางแผนไว้สำหรับป้องกันยุโรป จะไม่ตั้งเป้าไปที่รัสเซีย

นักวิชาการ Marsha Lipman ของ Carnegie Moscow Center กล่าวว่า การปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียใหม่ ของรัฐบาลสหรัฐชุดปธน. บารัค โอบาม่าเท่าที่แล้วมา ประสบความสำเร็จอย่างไม่มีที่สงสัย ซึ่งรวมถึงข้อตกลงการลดอาวุธร้ายแรงฉบับใหม่ และข้อตกลงที่อนุญาตให้สหรัฐขนส่งเสบียงให้ทหารในแอฟกานิสถานผ่านรัสเซียได้

แต่นักวิชาการผู้นี้ให้ความเห็นว่า การกลับมาของปธน. ปูติน อาจไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ก้าวหน้าไปสู่การเป็น “คู่งานที่สร้างสรร” ได้

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัสเซียของ Carnegie Moscow Center กล่าวว่า ปธน. ปูตินมีความรู้สึกเหมือนกับคนรัสเซียส่วนใหญ่ที่ว่า อเมริกาพยายามเอารัดเอาเปรียบรัสเซียทุกวิถีทาง พยายามทำให้รัสเซียอ่อนแอ ทำอันตรายรัสเซีย ไม่ให้ความสำคัญกับรัสเซีย และนักวิชาการผู้นี้ไม่คิดว่า อเมริกาจะแก้ความคิดนี้ได้

นาย Fyodor Lukyanov บรรณาธิการของนิตยสาร Russia in Global Affairs ยืนยันความเห็นของนักวิชาการอเมริกัน และเสริมว่า นโยบายต่างประเทศของปธน. ปูติน จะเป็นแนวอนุรักษ์นิยม

บก. ของ Russia in Global Affairs บอกว่า ปธน. ปูตินมีวิสัยทัศน์ว่า โลกเป็นสถานที่อันตราย แปรปรวน ยุ่งเหยิง ควบคุมไม่ได้ และการกระทำอะไรก็ตาม อาจก่อให้เกิดผลตามมาที่ไม่เป็นที่เข้าใจได้ และควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงจะต้องใช้ความระมัดระวังมาก

ในอีกด้านหนึ่ง นาย Pavel Baev อาจารย์นักวิจัยที่ Peace Research Institute ในกรุง Oslo ประเทศนอร์เวย์ คิดว่า ความขัดแย้งที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกที ระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับฝ่ายค้าน อาจทำให้ความตึงเครียดกับสหรัฐและชาติตะวันตกอื่นๆพลอยเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า พัฒนาการในลักษณะนี้ ทำให้ปธน. ปูตินตกอยู่ในสภาพถูกแปลกแยกโดดเดี่ยวมากขึ้น มีความตึงเครียดกับตะวันตกมากขึ้น เพราะดูเหมือนว่า ชาติตะวันตกจะมีความเห็นอกเห็นใจฝ่ายค้านมากทีเดียว ซึ่งสำหรับปธน. ปูติน ฝ่ายค้านเป็นศัตรูที่จะต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด แม้จะต้องกล่าวหาว่าเป็นแผนของชาติตะวันตกและสหรัฐก็ตาม

เมื่อวันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวแสดงความวิตกกังวลที่เห็นภาพการปฏิบัติของตำรวจปราบจลาจลของรัสเซียต่อผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวันอาทิตย์ รวมทั้งการจับกุมนักต่อสู้เคลื่อนไหว แต่ในขณะเดียวกัน ทางกระทรวงก็วิตกกังวลกับรายงานที่ว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งก่อความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

เป็นที่คาดกันว่าผู้นำของสหรัฐและรัสเซียจะพบหารือกันนอกรอบในการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศ G-8 ในสหรัฐ ในเวลาต่อไปในเดือนนี้

XS
SM
MD
LG