ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักเรียนโปแลนด์เฮ! รัฐสั่ง ‘งดการบ้าน’ ช่วยเด็กมีเวลามากขึ้น


อาจารย์สอนนักเรียนเกรด 5 ในกรุงวอร์ซอ โปแลนด์ เมื่อ 3 เม.ย. 2024 หลังโปแลนด์ออกมาตรการจำกัดการบ้าน (AP Photo/Czarek Sokolowski)
อาจารย์สอนนักเรียนเกรด 5 ในกรุงวอร์ซอ โปแลนด์ เมื่อ 3 เม.ย. 2024 หลังโปแลนด์ออกมาตรการจำกัดการบ้าน (AP Photo/Czarek Sokolowski)

นโยบายลดการบ้านให้กับเด็กนักเรียนกลายเป็นประเด็นถกเถียงล่าสุดในโปแลนด์ เมื่อเด็ก ๆ ต่างพอใจกับการจำกัดปริมาณการบ้าน ขณะที่ครูอาจารย์และผู้ปกครองกลับไม่คิดเช่นนั้น

โปแลนด์หวังที่จะปรับปรุงระบบการศึกษาภายในประเทศให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยล่าสุดรัฐบาลภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทัสก์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ได้มีข้อห้ามไปยังสถานศึกษา สั่งงดให้ “การบ้าน” สำหรับเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาระบบการศึกษาของโปแลนด์ถูกวิจารณ์ว่า เน้นการท่องจำ ไม่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ไม่เน้นการวิเคราะห์แยกแยะ และที่สำคัญ มีจำนวนการบ้านที่มากเกินไป

จากคำสั่งดังกล่าว ทำให้ครูในชั้นเรียนระดับเกรด 1 ถึง เกรด 3 จะไม่สามารถบังคับให้นักเรียนทำการบ้านได้อีกต่อไป ส่วนในชั้นเรียนเกรด 4 ถึงเกรด 8 การบ้านจะเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น และจะไม่ถูกนับเป็นคะแนนสำหรับการประเมินผลการศึกษา

โอลา โคซัค วัย 11 ปี อาศัยอยู่ชานกรุงวอร์ซอ ศึกษาในระดับเกรด 5 แสดงความรู้สึกดีใจหลังจากที่รัฐบาลโปแลนด์ออกคำสั่งจำกัดปริมาณการบ้านอย่างเข้มงวด โดยคาดว่าจะมีเวลามากขึ้นเพื่อไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เธอยังเผยว่าที่ผ่านมาเหล่านักเรียนจะคัดลอกการบ้านจากเพื่อนคนอื่นก่อนเข้าชั้นเรียนตอนเช้า หรือไม่เช่นนั้นก็เอามาจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูไม่เข้าท่า

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มักดา โคซัค คุณแม่ของโอลา บอกว่า “ฉันไม่พอใจ” เพราะการบ้านเป็นวิธีสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน มันช่วยให้เด็กรู้ว่าจริง ๆ แล้วเรากำลังเรียนอะไรกันอยู่

ในขณะที่ ปาเวล โคซัค คุณพ่อของโอลา กลับมองว่า “ถ้ามีสิ่งไหน ที่จะทำให้นักเรียนสนุกมากขึ้น เวลาอยู่ที่โรงเรียน มันคงจะดีทั้งต่อตัวนักเรียนและโรงเรียนเองด้วย”

การถกเถียงเรื่องการบ้านในปริมาณที่เหมาะสมเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ผลการศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า สำหรับเด็กแล้ว การบ้านมีประโยชน์เพียงเล็กน้อย แต่ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ เห็นว่า การบ้านช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีพัฒนาอุปนิสัยการเรียน และแนวคิดเชิงวิชาการ

เกือบทุกครั้งที่โปแลนด์ตั้งรัฐบาลใหม่ จะมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา ซึ่งสร้างความสับสนและสิ้นหวังให้กับเหล่าผู้ปกครอง ตัวอย่างเช่น การนำระบบชั้นเรียนมัธยมต้นมาใช้หลังระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย การปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง รวมถึงเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามปลูกฝังแนวคิด “อนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง” ผ่านหนังสือแบบเรียนใหม่

สลาวามีร์ โบรเนียร์ซ หัวหน้าสหภาพครูชาวโปแลนด์ มองว่า “คำสั่งงดการบ้าน” จากภาครัฐ เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับคำปรึกษาที่เพียงพอจากนักการศึกษา มันเกิดขึ้นเร็วไปและฉุกละหุกเกินไป อีกทั้งยังชี้ว่า การที่นักเรียนไม่ต้องทำการบ้าน อาจไปขยายช่องว่างทางการศึกษา ระหว่างเด็กที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากครอบครัว กับเด็กที่มาจากพื้นฐานครอบครัวยากจน ซึ่งได้รับการสนับสนุนที่น้อยกว่า

“กฎการบ้าน” ได้รับแรงผลักดันในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อปีที่แล้ว จากกรณีที่ มาซีค มาตุสซิวสกี เด็กชายอายุ 14 ปี กล่าวกับทัสก์ ระหว่างการชุมนุมหาเสียง ต่อหน้าสาธารณะชนทั่วทั้งประเทศ โดยชี้ว่า เยาวชน “ไม่มีเวลาพักผ่อน” เด็กถูกละเมิดสิทธิ์จากการบ้านจำนวนมากในช่วงวันหยุด และมีสอบอีกจำนวนหลายครั้งในวันจันทร์

บาร์บารา โนวัคกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโปแลนด์ กล่าวว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยด้านสุขภาพจิตของเด็ก ระบุว่าในบรรดาความเครียดที่เกิดขึ้นในหมู่เยาวชน สิ่งที่สามารถกำจัดได้ไวที่สุด คือภาระที่เกิดจากการบ้าน

ในทัศนะของ ปาซี ซาห์ลเบิร์ก นักการศึกษาและนักเขียนชาวฟินแลนด์ที่มีชื่อเสียง กล่าวว่าความจำเป็นของการบ้าน อาจต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลร่วมกับบริบทที่เกิดขึ้น ดังนั้น “เราจำเป็นต้องวางใจ ในการตัดสินใจของครู ว่าอะไรดีสำหรับเด็กแต่ละคน”

ปี 2017 เกาหลีใต้มีนโยบายจำกัดการบ้านสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา เนื่องจากกังวลว่าเด็กจะถูกกดดันมากเกินไป ส่วนในสหรัฐฯ ครูและผู้ปกครองจะตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าต้องการมอบหมายการบ้านมากน้อยเพียงใด ซึ่งโรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งจะไม่มีการบ้านสำหรับเด็ก ๆ

ซาห์ลเบิร์ก นักการศึกษาชาวฟินแลนด์ เสริมว่า เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่เด็กจะตระหนักว่า หากต้องการเชี่ยวชาญในเรื่องใด จำเป็นที่จะต้องฝึกฝนหลาย ๆ ครั้งจนเกิดความชำนาญ ดังนั้นหากมัวคิดว่าไม่มีการบ้านแล้วจะสบาย เพราะโรงเรียนไม่คาดหวังใด ๆ ความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดอย่างสิ้นเชิง

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG