ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โรงเรียนสหรัฐฯ เลือกสอนออนไลน์มากขึ้น กรณีเกิดภัยพิบัติ


Ryan Johnson, a fifth-grade teacher at Pecan Park Elementary School, right, monitors his daughter Rylei, while she checks her homework schedule before they leave for home in Jackson, Miss., Tuesday, Sept. 6, 2022. (AP Photo/Rogelio V. Solis)
Ryan Johnson, a fifth-grade teacher at Pecan Park Elementary School, right, monitors his daughter Rylei, while she checks her homework schedule before they leave for home in Jackson, Miss., Tuesday, Sept. 6, 2022. (AP Photo/Rogelio V. Solis)

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเหตุสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ทำให้โรงเรียนในสหรัฐฯ เลือกที่จะเตรียมพร้อมทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น แม้ว่า ผลกระทบด้านลบจากทางเลือกนี้ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องยังเป็นประเด็นที่ต้องสะสางอยู่ก็ตาม

เขตการศึกษาทั่วประเทศต่างหันมาใช้การเรียนออนไลน์ เมื่อชุมชนต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ไฟป่า พายุ หรือภาวะการขาดแคลนน้ำ อย่างเช่น ที่เมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี เมื่อปัญหาระบบน้ำประปาทำให้ผู้คนในเมืองต้องอยู่โดยปราศจากน้ำสะอาดเป็นเวลาหลายวัน และโรงเรียนต้องเปลี่ยนไปสอนออนไลน์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ จนกระทั่งหลังจากบริการน้ำประปากลับมาทำงานตามปกติเมื่อต้นเดือนนี้ เด็ก ๆ ราว 20,000 คนจึงได้กลับไปเรียนในชั้นเรียนตามปกติ

อย่างไรก็ตาม การเรียนออนไลน์นั้นเป็นการเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ทั้งเด็กและครู เพราะเวลาที่เด็กเรียนออนไลน์จากที่บ้าน ก็มักจะมีคนทั้งครอบครัวอยู่ในบ้านด้วย

ในช่วงต้นปี 2020 บรรดาบุคลากรในโรงเรียนได้ตั้งความหวังไว้สูงในเรื่องของการเรียนทางไกล แต่ตั้งแต่นั้นมา ปัญหาในเรื่องนี้ก็ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ทำให้นักเรียนหลาย ๆ คนเรียนหนังสือไม่ทัน และทำให้มีความกังวลในเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียนมากขึ้นด้วย

ในขณะเดียวกัน การเรียนการสอนแบบออนไลน์ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้การเรียนทางไกลมีความเป็นไปได้มากขึ้นในวงกว้าง

ในปี 2018 พายุรุนแรง 2 ลูกได้พัดถล่มพื้นที่เดียวกันในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งทำให้โรงเรียนบางแห่งต้องปิดตัวลง นักเรียนบางคนต้องหยุดเรียนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยแม้มีความพยายามที่จะทำการสอนแบบออนไลน์ เด็กจำนวนมากไม่มีคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ใช้เพื่อการนี้

แกรี เฮนรี (Gary Henry) อธิการบดีคณะครุศาสตร์และการพัฒนามนุษย์ของมหาวิทยาลัยแห่งเดลาแวร์ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการเรียนทางไกล กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เองโรงเรียนส่วนใหญ่จึงพยายามย้ายนักเรียนไปเข้าชั้นเรียนในอาคารอื่น ๆ แทน

เฮนรี กล่าวว่า หากเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ ดังข้างต้นขึ้นอีก เขตการศึกษาต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการเรียนออนไลน์ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอาจเป็นวิธีที่จะทำให้นักเรียนสามารถตามทันบทเรียนได้ในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ แต่การระบาดใหญ่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การเรียนออนไลน์นั้นไม่มีประสิทธิภาพในระยะยาว

ตัวอย่างเช่น ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองโมรา รัฐนิวเม็กซิโก ได้เปลี่ยนไปเรียนออนไลน์เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เมื่อมีการอพยพเนื่องจากไฟป่า

มาร์วิน แมคออลีย์ (Marvin MacAuley) ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวว่า ช่วงแรกของการเรียนออนไลน์นั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก นักเรียนและครูที่พลัดถิ่นฐานบางส่วนต้องอยู่ในศูนย์อพยพและไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเหล่านั้นก็เริ่มมีคอมพิวเตอร์หรือสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้

แต่ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม นักเรียนได้กลับไปเรียนในโรงเรียนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุไฟป่า

แมคออลีย์ กล่าวว่า "เมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย การที่ให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนนั้นจะเป็นการดีกว่า เพราะเราได้เห็นว่า เด็ก ๆ เป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังได้สังเกตพฤติกรรม และสามารถให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาได้”

ที่เมืองเครสส์คิล รัฐนิวเจอร์ซีย์ หลังจากเกิดพายุรุนแรงในปี 2021 อาคารโรงเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายแห่งหนึ่งถูกน้ำท่วม โรงเรียนจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเริ่มต้นปีการศึกษาด้วยการเรียนออนไลน์

ไมเคิล เบิร์ก (Michael Burke) ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวว่า การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยากสำหรับปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ซึ่งรวมทั้ง เรื่องการเข้าสังคมด้วย และเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ที่ต้องหาคนที่อยู่บ้านกับลูก ๆ อีก

หลังจากที่ผ่านไประยะหนึ่ง เมืองเครสส์คิลได้เสนอให้มีการเรียนทั้งแบบออนไลน์และแบบเรียนในชั้นเรียน โดยทางโรงเรียนต้องทำงานร่วมกับกลุ่มศาสนาท้องถิ่นเพื่อใช้ห้องเรียน 14 ห้องของทางกลุ่ม จนกระทั่ง ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ โรงเรียนได้ย้ายไปอยู่ที่โบสถ์ในเมืองใกล้เคียง เพื่อให้นักเรียนได้ไปเรียนทุกวัน

Ryan Johnson, a fifth-grade teacher at Pecan Park Elementary School, left, checks to see what homework his daughter, Rylei, is bringing home, as they prepare to leave Johnson's classroom in Jackson, Miss., Tuesday, Sept. 6, 2022.
Ryan Johnson, a fifth-grade teacher at Pecan Park Elementary School, left, checks to see what homework his daughter, Rylei, is bringing home, as they prepare to leave Johnson's classroom in Jackson, Miss., Tuesday, Sept. 6, 2022.

ไรอัน จอห์นสัน (Ryan Johnson) ครูสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนในเมืองแจ็คสัน รัฐมิสซิสซิปปี้ บอกว่า เขาได้ใช้ประสบการณ์ของเขาจากการระบาดใหญ่เพื่อช่วยเหลือครูใหม่ ๆ ในโรงเรียนซึ่งประสบปัญหาแบบเดียวกันเมื่อโรงเรียนต้องเปลี่ยนไปใช้การเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำของเมือง

จอห์นสัน กล่าวว่า ครูทุกคนต้องทำงานอย่างหนักในปีที่แล้วเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนดีขึ้น แต่เขาก็ยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากต้องปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน ๆ อีกครั้ง

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG