ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘อ็อกซ์แฟม’ ชี้ อุตสาหกรรมช็อกโกแลตฟันกำไรหมื่นล้าน แต่คนปลูกโกโก้กลับจนลง


Farmers in Ghana collecting ripe cocoa beans
Farmers in Ghana collecting ripe cocoa beans

องค์กรการกุศล Oxfam ที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมเพื่อยุติความยากจน รายงานว่า ในขณะที่ผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังมีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ผลกำไรดังกล่าวกลับไม่ได้คืนไปสู่เหล่าชาวไร่ที่ปลูกโกโก้ ผู้ซึ่งกำลังเผชิญกับรายได้ที่ลดลงและความยากจนที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์ของ Oxfam ระบุว่า ประเทศกานาเป็นผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่อันดับสองของโลก และนับตั้งแต่เริ่มการระบาดของโควิดในปี 2020 เป็นต้นมา รายได้ของเกษตรกรในประเทศลดลงโดยเฉลี่ย 16% ไปแล้ว

อูเว เนธติง จากองค์กร Oxfam อธิบายว่า “แน่นอนว่า การระบาดของโควิดคือการหยุดชะงักครั้งใหญ่ รวมถึงสงครามในยูเครน และวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมา ควบคู่ไปกับความท้าทายในระยะยาว อย่างเช่น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฟาร์มโกโก้ที่มีการใช้งานปลูกมานานซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ในกานา”

Cocoa beans in Ghana
Cocoa beans in Ghana

องค์กรการกุศลนี้ ระบุว่า ชาวกานาที่ทำไร่โกโก้จำนวนมาก มีชีวิตอยู่รอดด้วยการทำเงินได้เพียง 2 ดอลลาร์ต่อวันเท่านั้น

เนธติง กล่าวเสริมว่า รายได้ที่ลดลงของเกษตรกรในกานายังกลายมาเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการใช้แรงงานเด็กในการทำฟาร์มโกโก้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในกานา รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ที่ทำไร่โกโก้ด้วย ขณะที่ ประเด็นการตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นปัญหาอีกประการ เพราะเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะออกไปตัดไม้มากขึ้นเพื่อขยายพื้นที่ทำมาหากิน

A farmer in Ghana while drying cocoa
A farmer in Ghana while drying cocoa

และเมื่อมองไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลกในแวดวงช็อกโกแลต ทั้ง เฮอร์ชีย์ ลินดท์ แอนด์ ปริงลิ มอนเดเลซ รวมถึง เนสท์เล่ ก็จะพบว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดเป็นวงกว้างของโควิด บริษัทเหล่านี้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น 16% โดยเมื่อคำนวณเฉพาะกำไรของ บริษัทช็อกโกแลตมหาชนที่ใหญ่ที่สุดสี่แห่ง ก็จะพบว่า มีมูลค่ากำไรสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา

สถานการณ์ในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ หรือที่รู้จักกันในนามของ ไอวอรี่ โคสต์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตโกโก้รายใหญ่ที่สุดในโลก ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไม่ต่างกันนัก เพราะเกษตรกรที่นี่ต่างบ่นว่า มีรายได้ที่ลดลง

Julien Kouamé Konan, Cocoa Farmer
Julien Kouamé Konan, Cocoa Farmer

จูเลียน คูอาเม โคนัน เกษตรกรไร่โกโก้ กล่าวว่า “พวกเราชาวสวนนั้นล้วนยากจน แต่พวกตะวันตกที่มาซื้อโกโก้กลับมีแต่ร่ำรวยขึ้น ขณะเดียวกัน พวกเรา เหล่าเกษตรกร ก็กำลังเดือดร้อน เราไม่ได้อะไรเลย ทั้งยังมีปัญหาในการเพาะปลูก จึงอยากขอรัฐบาลให้ช่วยเหลือบ้าง”

รัฐบาลของกานาและไอวอรี่โคสต์ ลงนามในข้อตกลงเมื่อปี ค.ศ. 2021 เพื่อที่จะได้รับส่วนแบ่งที่มากขึ้นจากผลกำไรของอุตสาหกรรมช็อกโกแลต โดยมีการกำหนดราคาขั้นต่ำต่อตันและให้ส่วนลดสำหรับ 'การชำระด้วยเงินสด' ซึ่งเป็นจำนวนเงินพิเศษที่กระจายไปสู่เกษตรกรโดยตรง นอกเหนือจากราคาโกโก้ที่เป็นอยู่ในตลาด

อย่างไรก็ดี องค์กร Oxfam ชี้ว่า กระบวนการข้างต้นนั้นล้มเหลวในการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Farmers in Ghana while harvesting cocoa
Farmers in Ghana while harvesting cocoa

เนธติง จากองค์กร Oxfam ให้ทัศนะว่า “ถ้าคุณเป็นบริษัทที่สร้างผลกำไร ขณะเดียวกันผู้ผลิตวัตถุดิบที่สำคัญที่สุดของคุณ กำลังเผชิญความลำบากด้านการเงิน มันจะต้องมีอะไรสักอย่างที่บิดเบี้ยวในโครงสร้างธุรกิจของคุณ”

Footage of Nestle building
Footage of Nestle building

เมื่อวีโอเอติดต่อไปยังบริษัทช็อกโกแลตยักษ์ใหญ่ เพื่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าว บริษัทลินดท์ แอนด์ ปริงลิ แจ้งว่า พวกเขาจ่ายโบนัสให้กับเกษตรกรประเทศกานาในอัตรา 60 ดอลลาร์ต่อตัน และลงทุนมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ในโครงการเพื่อความยั่งยืนของโกโก้ในปี ค.ศ. 2021 ขณะที่ บริษัทเฮอร์ชีย์ แถลงว่า ตนมีเป้าหมายในการส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่เกษตรกรให้ดีขึ้น ผ่านการโอนเงินสดและให้สินเชื่อ ส่วนบริษัท มอนเดเลซ และบริษัทเนสท์เล่ ไม่ได้ตอบกลับเพื่อแสดงความเห็นในประเด็นนี้

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG