ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สรุป ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อย BA.2 คืออะไร?


People wearing face masks pass by a poster of precautions against coronavirus at a subway station in Seoul, South Korea, Jan. 25, 2022.
People wearing face masks pass by a poster of precautions against coronavirus at a subway station in Seoul, South Korea, Jan. 25, 2022.
Omicron Subset BA2 Explainer
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:05 0:00


ทั่วโลกกำลังจับตาดูการระบาดของ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อยที่ถูกเรียกว่า BA.2 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา ราว 40 ประเทศซึ่งรวมทั้งสหรัฐฯและประเทศไทย ได้ส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ข้างต้นถึง 15,000 รายในระบบ GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลร่วมเกี่ยวกับโควิด โดยผู้เชี่ยวชาญพบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 จากสายพันธุ์หลักอย่างเห็นได้ชัด

นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง แห่งโรงพยาบาล Houston Methodist ในรัฐเท็กซัสกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า “ตั้งแต่เกิดการระบาด เรายังไม่เห็น (สายพันธุ์ย่อย) มาก” ในสหรัฐฯ กลับกันกับฝั่งเอเชียและยุโรปที่มีการระบาดมาก

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของเดนมาร์กพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยในประเทศแล้วถึง 45% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั้งหมดเมื่อกลางเดือนมกราคม ตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

แต่การวิเคราะเบื้องต้นในเดนมาร์กระบุว่า ทางการไม่พบความแตกต่างในจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากการติดเชื้อของสายพันธุ์ย่อยเมื่อเทียบกับ ’โอมิครอน’ สายพันธุ์หลัก ส่วนในประเทศไทย หนังสือพิมพ์มติชน รายงานวันที่ 26 มกราคมตามเวลาท้องถิ่นว่าพบผู้ป่วยจากสายพันธุ์ย่อยแล้ว 14 ราย

ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อของ BA.2

นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง กล่าวต่อว่า “เรามีข้อมูลบางส่วนที่ชี้ว่า (สายพันธุ์ย่อย) อาจแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วเท่าหรือรวดเร็วกว่าสายพันธุ์หลัก เนื่องจาก (สายพันธุ์ย่อย) สามารถระบาดแข่งกับสายพันธุ์หลักได้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แน่ใจว่าเป็นไปได้เพราะอะไร”

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ เจอเรมี่ ลูแบน นักระบาดวิทยาแห่ง University of Massachusetts Medical School ชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะส่งผลกระทบต่อประชากรอย่างไร โดยเฉพาะในบริเวณที่ผู้คนจำนวนมากเผชิญกับการระบาดของ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์หลักแล้ว

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงเร่งศึกษาเพิ่มเติมถึงความสามารถในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดในการป้องกันเชื้อดังกล่าว และภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดสายพันธุ์หลักมาก่อนว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อยได้หรือไม่

WHO แสดงความกังวลมากแค่ไหน?

ทางด้านองค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุเพียงว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) ซึ่งเป็นระดับการส่งสัญญาณขึ้นสูงสุดสำหรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกจากสายพันธุ์ย่อยรุนแรงขึ้น BA.2 อาจจะถูกยกระดับขึ้นมาและได้รับตัวอักษรกรีกเหมือนสายพันธุ์หลักชนิดก่อนๆ

ส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 สำนักข่าวเอพีอธิบายว่า ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์หลักมีพันธุกรรม S gene target failure โดยเฉพาะจึงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถแยกแยะออกจากสายพันธุ์ ‘เดลต้า’ ได้ง่าย ทั้งนี้ นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง ชี้ว่า พันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่มีคุณลักษณะเช่นนั้น จึงทำให้เมื่อตรวจเชื้อแล้ว ผลปรากฏว่ามีพันธุกรรมคล้าย ‘เดลต้า’

A patient gets a throat swab to test for COVID-19 at a facility in Soweto, South Africa, Dec. 2, 2021.
A patient gets a throat swab to test for COVID-19 at a facility in Soweto, South Africa, Dec. 2, 2021.

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อย

สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อย แพทย์ให้คำแนะนำผ่านสำนักข่าวเอพีว่า ผู้คนควรใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างที่เคยทำมา เช่น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด การสวมหน้ากากอนามัย การหลีกเหลี่ยงสถานที่แอดอัด และอยู่บ้านหากรู้สึกว่าไม่สบาย

นายแพทย์ ลอง อธิบายว่า “วัคซีนยังถือเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ จำนวนคนที่ต้องนอนโรงพยาบาล และจำนวนผู้เสียชีวิตได้ดี และถึงแม้บางคนจะเคยติดโควิดมาก่อนและสามารถสร้างภูมิต้านทานตามธรรมชาติได้ แต่การป้องกันจากวัคซีนยังจัดว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีระยะเวลาป้องกันที่ยาวกว่า”

สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้กับผู้คนว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งนายแพทย์ ลองกล่าวทิ้งท้ายว่า “เราทุกคนหวังว่าการระบาดจะจบสิ้น …..แต่ เราจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ต่อไป จนกว่าคนทั่วโลกได้รับวัคซีน”

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG