ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยชี้ ปลูกต้นไม้ไว้บนโต๊ะทำงานอาจช่วยลดความเครียดจากงานได้


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:19 0:00

งานวิจัยล่าสุดจากญี่ปุ่นชี้ว่า พนักงานบริษัทที่ต้องทำงานติดโต๊ะตลอดเวลา และประสบปัญหาความเครียดพุ่งสูง เพราะกลัวทำงานเสร็จไม่ทันกำหนดหรือเพราะเจ้านายและสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน อาจเลือกปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ ไว้บนโต๊ะเพื่อช่วยลดอาการเครียดที่ว่านี่ได้

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเฮียวโก ในประเทศญี่ปุ่น ทำการทดสอบดังกล่าวกับพนักงานบริษัทจำนวน 63 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 24 ถึง 60 ปี และใช้เวลาทำงานกับคอมพิวเตอร์สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ และตีพิมพ์ผลงานสรุปออกมาในวารสาร HortTechnology ซึ่งเป็นงานพิมพ์โดย สมาคมพืชสวนแห่งอเมริกา (American Society for Horticultural Science) ที่เน้นเสนอผลงานการทดลองวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์

งานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นหลังพบว่า มนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นประสบภาวะความเครียดพุ่งสูงจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ จึงวางแผนวิจัยภายใต้สมมติฐานว่า พนักงานจำนวนมากไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประโยชน์ของต้นไม้ในการลดความเครียดจากการทำงาน แล้วทำการทดสอบกับคนในที่ทำงานจริงๆ ไม่เหมือนกับงานวิจัยก่อนๆ ที่ส่วนใหญ่ทำการในห้องทดลองหรือสถานการณ์เกือบเสมือนจริง

ดร. มาซาฮิโร่ โทโยดะ (Dr. Masahiro Toyada) ผู้นำทีมวิจัยนี้สรุปว่า หากนายจ้างสนับสนุนให้พนักงานหยุดงานสัก 3 นาทีเพื่อ “การพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติ” สุขภาพจิตของพนักงานจะดีขึ้นได้จริง

ในการทำการทดสอบ ทางทีมงานเลือกใช้มาตรวัดความวิตกกังวล State-Trait Anxiety Inventory (STAI) พร้อมๆ กับการวัดอัตราการเต้นของชีพจร ก่อนและหลังการหยุดพักโดยในสัปดาห์แรก ผู้ร่วมทดสอบจะไม่มีต้นไม้ตั้งอยู่บนโต๊ะ เพื่อเทียบกับผลที่ได้ในสัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งผู้ร่วมทดสอบจะเลือกต้นไม้ที่ชื่นชอบมาตั้งไว้บนโต๊ะและเรียนรู้วิธีดูแล

ผลวิจัยที่ออกมาชี้ว่า ระดับความเครียดของผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ค่อยๆ ลดลง ขณะที่อัตราการเต้นของชีพจรก็ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ระบบประสาทซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) หรือระบบประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่าง ซึ่งทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ และมักกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วและแรง กลับมีความสงบมากขึ้น

เมื่ออ้างอิงตอบรับในทางบวกจากผู้ร่วมโครงการราวครึ่งหนึ่ง ทีมวิจัยสรุปออกมาว่า ความรู้สึกอ่อนไหวและรักต้นไม้ของแต่ละคนมีส่วนช่วยลดระดับความเครียดได้จริง

นอกเหนือจากประเด็นความเครียดแล้ว การวิจัยนี้ยังสรุปด้วยว่า หลังการหยุดพักระหว่างการทำงาน แล้วนั่งชื่นชมธรรมชาติ หรือในกรณีนี้ คือการดูต้นไม้ของตนสัก 3 นาที ค่อยกลับมาทำงานต่อ ผู้ร่วมทดสอบมีสมาธิที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่า การปลูกต้นไม้บนโต๊ะทำงานไม่ได้ช่วยลดความเครียดของทุกคนได้เสมอไป เพราะอัตราการเต้นของชีพจรของผู้ร่วมทดสอบบางคนปรับสูงขึ้นพร้อมๆ กับระดับความเครียด ขณะที่การมีต้นไม้กลับไม่มีผลกับผู้ร่วมโครงการบางคนเสียด้วยซ้ำ

ดร. โทโยดะ คิดว่า ในกรณีที่ระดับความเครียดของบางคนพุ่งสูง เหตุผลที่เป็นไปได้น่าจะเป็นเพราะ คนเหล่านั้นตกอยู่ในภาวะกลัวความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลต้นไม้ของตนให้ดี ขณะที่ตัวต้นไม้กลับดูแย่ลง กล่าวคือ เหี่ยวเฉาหรือดูเหมือนใกล้ตาย ส่วนกรณีผู้ที่ต้นไม้ไม่ค่อยส่งผลอะไรมาก น่าจะเป็นเพราะคนเหล่านั้นเกิดความคุ้นเคยกับการมีต้นไม้จนไม่รู้สึกอะไรพิเศษอีกต่อไป

แต่นักวิจัยยังระบุว่า การสร้างสภาพแวดล้อมสีเขียวสะท้อนความเป็นธรรมชาติในที่ทำงานกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น

ดร. ชาร์ลส ฮอลล์ (Dr. Charles Hall) จากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม (Texas A&M University) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้หลายคนจะทราบดีอยู่แล้วว่า ต้นไม้นั้นมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์จริงๆ แต่ผลวิจัยนี้คือสิ่งที่ตอกย้ำความจริงนี้ให้ทุกคนตระหนักมากขึ้น พร้อมกล่าวด้วยว่า ต้นไม้บนโต๊ะทำงานไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ช่วยลดอาการเครียดได้ แต่การมองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อชื่นชมธรรมชาติ หรือหยุดพักการทำงานสักครู่แล้วออกไปเดินในสวนก็น่าจะให้ผลลัพธ์ในทางบวกเช่นกัน

ดร. ฮอลล์ สรุปอีกว่า สิ่งที่ดีกว่าการมีต้นไม้ไว้บนโต๊ะทำงานเพื่อเตือนให้เราหยุดพักและลดความเครียด ก็คือการพักสายตาไว้กับสีเขียวของต้นไม้โดยไม่ต้องคิดหรือพูดอะไรสัก 3 นาที ซึ่งเปรียบเสมือนกับ การมีสัมมาสติ มีจิตรู้อยู่กับปัจจุบัน นั่นเอง

XS
SM
MD
LG