ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทางการเกาหลีเหนือจับตา "กองทัพโฉมงาม" หวั่นแปรพักตร์เข้าเกาหลีใต้


North Korean cheerleaders at a downhill skiing event at the Pyeongchang 2018 Winter Olympics on February 14, 2018.
North Korean cheerleaders at a downhill skiing event at the Pyeongchang 2018 Winter Olympics on February 14, 2018.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:04 0:00

คณะเชียร์ลีดเดอร์ของเกาหลีเหนือจำนวนเกือบ 230 ชีวิต หรือที่เรียกว่า “กองทัพโฉมงาม” ถูกจับตามองอย่างมากจากสื่อมวลชนทั่วโลก ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชาง เกาหลีใต้

นอกจากนี้พวกเธอยังถูกจับตามองจากรัฐบาลกรุงเปียงยางเอง เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถปฏิบัติภารกิจเป็นหน้าเป็นตาของประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเธอหลบหนีหรือแปรพักตร์ระหว่างอยู่ในเกาหลีใต้

ภาพและวิดีโอเหล่าเชียร์ลีดเดอร์สาวงามจากเกาหลีเหนือกว่า 220 ชีวิตในชุดสีแดง ถือเป็นหนึ่งในภาพที่ถูกเผยแพร่มากที่สุดของบรรดาตัวแทนจากเกาหลีเหนือที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องชาง เกาหลีใต้ และถือเป็น “กองทัพโฉมงาม” ที่มีจำนวนมากที่สุดที่เคยเดินทางไปร่วมในการแข่งขันกีฬารายการใหญ่นอกประเทศ

ในวันพุธ คณะเชียร์ลีดเดอร์เกาหลีเหนือและกองเชียร์ชาวเกาหลีใต้ได้ร่วมกันส่งเสียงเชียร์ทีมฮ็อกกี้หญิงของสองประเทศที่ลงแข่งขันภายใต้ธงชาติเดียวกัน คือ ธงรวมประเทศ

หลายคนมองว่าการเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวของ “กองทัพโฉมงาม” จากเกาหลีเหนือนี้ คือสัญลักษณ์ของการประนีประนอมปรองดองระหว่างสองเกาหลี แต่บางคนกลับมองว่าพวกเธอคือฉากหน้าที่ดูสดใส ซึ่งรัฐบาลกรุงเปียงยางต้องการใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่สวยงามให้กับเกาหลีเหนือ หลังจากเกาหลีเหนือถูกมองว่าเป็นรัฐอันธพาลจากการทดสอบจรวดขีปนาวุธและนิวเคลียร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

North Korean cheerleaders at the Pyeongchang 2018 Winter Olympics on February 14, 2018.
North Korean cheerleaders at the Pyeongchang 2018 Winter Olympics on February 14, 2018.

รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับผู้แทนจากเกาหลีเหนือรวมกว่า 400 คน ที่เดินทางมาร่วมในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ เป็นมูลค่า 2,640,000 ดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงคณะเชียร์ลีดเดอร์ นักกีฬา นักดนตรีและนักแสดงในพิธีเปิด ผู้สื่อข่าว และเจ้าหน้าที่อื่นๆ

ที่ผ่านมา สาวเชียร์ลีดเดอร์ที่โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์ รี โซล จู ภริยาผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ซึ่งในช่วงที่เธออายุ 16 ปี ได้เคยเดินทางไปเข้าร่วมกีฬาชิงแชมป์เอเชียที่เมืองอินชอน ในปี พ.ศ. 2548 ในฐานะเชียร์ลีดเดอร์ด้วย

แต่ไม่ว่าจะมีนัยยะแฝงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ดูเหมือนเวลานี้พวกเธอกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ทั้งจากบรรดาสื่อมวลชนจากทั่วโลก และจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีเหนือเอง

North Korean cheerleaders watch a women's ice hockey match between Korea and Japan in Gangneung, South Korea, February 14, 2018.
North Korean cheerleaders watch a women's ice hockey match between Korea and Japan in Gangneung, South Korea, February 14, 2018.

พวกเธอพักอยู่ที่รีสอร์ทห่างจากเมืองพย็องชางไปถึง 50 กม. และต้องเดินทางมายังบริเวณสถานที่แข่งขันกีฬาโดยใช้รถโดยสารที่มีตำรวจเกาหลีใต้คุ้มกันอย่างเข้มงวด และมีเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยเกาหลีเหนือเดินทางไปด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร แม้แต่เวลาไปเข้าห้องน้ำ

พวกเธอถูกกำชับว่าห้ามพูดคุยกับชาวเกาหลีใต้เป็นการส่วนตัวเด็ดขาด และหากพบว่าเพื่อนสาวงามมีพฤติกรรมที่ผิดปกติหรือไม่เหมาะสม ให้รายงานต่อเจ้าหน้าที่ทันที และหากใครพยายามหลบหนี ครอบครัวของเธออาจต้องรับเคราะห์แทน

มาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดนี้เริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกสาวงามที่มาจากตระกูลที่ดี และถูกตรวจสอบอย่างละเอียดว่าไม่มีญาติพี่น้องหรือครอบครัวที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ หรือมีความเสี่ยงที่จะแปรพักตร์หรือฝักใฝ่ชาติอื่น หลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว สาวๆ เชียร์ลีดเดอร์เหล่านี้จะต้องเข้ารับการอบรมด้านอุดมการณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเธอจงรักภักดีต่อเกาหลีเหนือและผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน ในฐานะที่พวกเธอคือหน้าตาของประเทศ

In this 2005 photo, North Korea's female cheerleaders, including a woman (right) believed to be North Korean leader Kim Jong-Un's current wife Ri Sol-Ju, attend the 2005 Asian Athletics Championships in Incheon.
In this 2005 photo, North Korea's female cheerleaders, including a woman (right) believed to be North Korean leader Kim Jong-Un's current wife Ri Sol-Ju, attend the 2005 Asian Athletics Championships in Incheon.

ถึงกระนั้น องค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch บอกว่า การเข้าร่วมของเกาหลีเหนือในกีฬาโอลิมปิกที่เกาหลีใต้ครั้งนี้ โดยเฉพาะการส่งตัวแทนนักกีฬาลงแข่งภายใต้ธงชาติเดียวกัน ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในความพยายามสานสัมพันธ์ของสองประเทศ และคาดหวังว่าจะสามารถนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเกาหลีเหนือ

รายงานของ Human Rights Watch เมื่อต้นปีนี้ ระบุว่า เกาหลีเหนือคือหนึ่งในประเทศที่ประชาชนถูกกดขี่มากที่สุดในโลก และยังเต็มไปด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ซึ่งอาจขัดกับภาพของ “กองทัพเชียร์ลีดเดอร์สาวงาม” ที่ทั่วโลกได้เห็นระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้

(ผู้สื่อข่าว Brian Padden รายงานจากกรุงโซล / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG