ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไม่เลื่อนแล้ว! นาซ่าส่งจรวดสำรวจดวงจันทร์ลำใหม่ขึ้นสู่อวกาศ


NASA's new moon rocket lifts off from Launch Pad 39B at the Kennedy Space Center in Cape Canaveral, Florida, Nov. 16, 2022.
NASA's new moon rocket lifts off from Launch Pad 39B at the Kennedy Space Center in Cape Canaveral, Florida, Nov. 16, 2022.

จรวดสำรวจดวงจันทร์ลำใหม่ขององค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) เดินทางออกจากศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา เมื่อช่วงเช้ามืดวันพุธตามเวลาท้องถิ่น หลังจากเลื่อนมาหลายครั้ง เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคและสภาพอากาศไม่เป็นใจ

การปล่อยจรวด Space Launch System (SLS) ถือเป็นก้าวสำคัญของภารกิจส่งนักบินอวกาศของสหรัฐฯ ไปยังดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ หลังจากที่โครงการอพอลโล (Apollo) ยุติลงเมื่อ 50 ปีก่อน

จรวด SLS น้ำหนัก 2.6 ล้านกิโลกรัม ความสูงเท่าตึก 32 ชั้น ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 10 ปี โดยจะใช้บรรจุแคปซูล โอไรออน (Orion) ซึ่งจะมีหุ่นจำลองทีมนักบินอวกาศสามตัว และมีกำหนดโคจรรอบดวงจันทร์ ก่อนกลับมายังโลกในระยะเวลา 6 สัปดาห์

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จรวดลำนี้จะปล่อยแคปซูลโอไรออนเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อทดสอบการเดินทางเพื่อเตรียมลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนที่แคปซูลจะกลับสู่พื้นโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกในเดือนธันวาคม

เมื่อเดือนกันยายน นาซ่าแจ้งว่า การปล่อยจรวดอวกาศ SLS ต้องล้มเหลวอีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการรั่วไหลของไฮโดรเจนเหลวเย็นจัดพิเศษ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของจรวดอวกาศขนาดยักษ์ลำนี้ได้

โครงการสำรวจดวงจันทร์รอบใหม่ภายใต้โครงการ อาร์เตมิส (Artemis) ของนาซ่าครั้งนี้ มีเป้าหมายส่งนักบินอวกาศเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025 โดยเจ้าหน้าที่ของนาซ่าระบุว่า โครงการ Artemis I จะเป็นการรวบรวมข้อมูลสำคัญต่าง ๆ และวิเคราะห์ศักยภาพของยานอวกาศก่อนที่จะเริ่มโครงการ Artemis 2 ซึ่งเป็นการส่งมนุษย์ขึ้นไปวนรอบดวงจันทร์ และโครงการ Artemis 3 คือการส่งมนุษย์ไปลงบนพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง

นาซ่าตั้งเป้าว่า จะสามารถนำสตรีคนแรกและคนผิวสีคนแรกไปสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ รวมทั้งเตรียมการสำหรับก่อตั้งอาณานิคมของมนุษย์บนดวงจันทร์หลังจากนั้น ตลอดจนเตรียมโครงการสำรวจดาวอังคารในอนาคต ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลของการทดสอบยิงจรวด SLS ในครั้งนี้

  • ข้อมูลบางส่วนจากเอพี
XS
SM
MD
LG