ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ธุรกิจท่องเที่ยวเครียด! ชาวต่างชาติเมิน 'เมียนม่า' เพราะวิกฤติในรัฐยะไข่


Myanmar Tourism
Myanmar Tourism

การท่องเที่ยวเมียนมาเร่งเร้าทางการให้แก้ธุรกิจซบเซา

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:09 0:00

ก่อนหน้านี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ทางการเมียนม่าและบรรดาเจ้าของธุรกิจต่างมั่นใจว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวในเมียนม่าเพื่อชมสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์โบราณในพุกาม ทะเลสาบอินเล หรือชายหาดที่สวยงามที่ติดกับอ่าวเบงกอล

ธุรกิจการท่องเที่ยวในเมียนม่าดีขึ้นอยู่พักหนึ่ง เนื่องจากภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานานาชาติดีขึ้นพร้อมกับการปฏิรูปในประเทศในตอนนั้น

เมียนม่ากลายเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวหลายคนอยากไปเยือน ตัวเลขของทางการชี้ว่า มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 4.6 ล้านคนเดินทางไปเมียนม่าในปี ค.ศ. 2015 เพิ่มจาก 816,000 คนเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น และในปี ค.ศ. 2017 มีนักท่องเที่ยว 3.4 ล้านคนไปเยือนเมียนม่า

แต่สถานการณ์ในขณะนี้ได้เปลี่ยนไป ภาคการท่องเที่ยวเมียนม่าได้รับผลกระทบรุนเเรงจากวิกฤติในรัฐยะไข่ หลังจากชาวมุสลิมโรฮิงญา 700,000 คน เดินทางข้ามชายแดนไปยังบังคลาเทศ เพื่อหลบหนีการใช้กำลัังปราบปรามโดยกองทัพเมียนม่า

กองทัพเมียนม่าถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองชาวยะไข่ ทำให้บรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลีกเลี่ยงไม่ไปเยือน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย

รัฐบาลเมียนม่าเริ่มตะหนักถึงความจำเป็นในการแก้ัปัญหานี้ เเละในต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้จัดการประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อถกกันถึงมาตรการที่ควรนำไปใช้เพื่อปรับปรุงสถานการณ์

ในการประชุมนี้ นาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนม่า ซึ่งเป็นผู้นำประเทศโดยพฤตินัย กล่าวว่า ประเทศต้องเน้นที่มาตรการต่างๆ ที่รวมไปถึงการคมนาคมทางน้ำ การสร้างที่พักอาศัยที่สะอาด เเละการพัฒนาโครงการท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในชุมชนเพิ่มมากขึ้น

นางซู จี กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสชมความงามของทิวทัศน์เเละได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้ถนนหนทางทั้งทางบกแและทางน้ำ ตลอดจนรถไฟได้รับการปรับปรุง นอกเหนือจากการขนส่งทางอากาศ

บรรดาเจ้าของธุรกิจการท่องเที่ยวในเมียนม่ายินดีต่อคำเเนะนำของนางซู จี แต่พวกเขากล่าวว่า ยังมีมาตรการระยะสั้นหลายอย่างที่ควรนำมาใช้เเละยังได้เรียกร้องให้มีแผนยุทธการในระดับชาติเพื่อจัดการกับปัญหาที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังประสบในขณะนี้

ออง ควอ สวาร์ อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิมรดกอินเล (Inle Heritage Foundation) กล่าวว่า จำเป็นต้องมีแผนงานแบบองค์รวมที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการปรับปรุงกาคการท่องเที่ยวของเมียนม่า แผนงานนี้ควรรวมทั้งแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ผลิตภัณฑ์ ช่องทางการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ การตลาดและการขาย

เขายอมรับในข้อเเนะนำของนางซู จี โดยเฉพาะในเรื่องที่เรียกร้องให้มีการสาธารณูปโภค เเต่กล่าวว่าควรมีแผนงานที่มีเชื่อมโยงกัน รวมทั้งมาตรการที่สร้างความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงต่างๆ

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเยือนเมียนม่ามักนิยมไปเที่ยวในเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พุกามเเละทะเลสาบอินเล เเต่เริ่มมีจุดท่องเที่ยวใหม่ๆ ผุดขึ้นมาในพื้นที่ที่คนไม่รู้จัก ซึ่งเป็นผลดีทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนในพื้นที่

ด้าน เบอร์ที ลอว์สัน (Bertie Lawson) ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการแห่งบริษัท Sampan Travel ในย่างกุ้ง กล่าวว่า ข้อเเนะนำของนางออง ซาน ซู จี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เเต่ยังจำเป็นต้องทำมากกว่านั้น

เขายกตัวอย่างสิ่งที่ต้องปรับปรุงว่า ได้แก่การแก้ปัญหาสายการบินในประเทศที่คิดค่าบริการแก่ชาวต่างชาติสูงขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับลูกค้าชาวเมียนม่า เเละรถบัสที่ที่นำพานักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มักเดินทางไปถึงที่หมายในตอนค่ำ เเทนที่จะเป็นช่วงกลางวันซึ่งสะดวกกว่าสำหรับนักท่องเที่ยว

เขากล่าวว่าเรื่องเหล่านี้ดูเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่สลักสำคัญ แต่เมื่อรวมกันเเล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจรู้สึกว่าเมียนม่าไม่น่าเที่ยวอย่างที่คิด และอาจเลือกไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ แทน เพราะไม่อยากเจอกับปัญหาหยุมหยิมเหล่านี้

ลอว์สันกล่าวว่า ตนเชื่อว่าผลกระทบของวิกฤติรัฐยะไข่ต่อการท่องเที่ยวอาจจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว แต่บอกว่ามีเหตุผลที่ทุกคนควรมีความหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

เขากล่าวว่า การปรับปรุงภาพพจน์ของเมียนม่าในสายตาชาวโลก อาจจะต้องใช้เวลานาน เเละเขาคิดว่าการท่องเที่ยวของเมียนม่ายังจะเติบโตอยู่ เพียงแต่จะไม่ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วอย่างที่หลายคนเคยคาดเอาไว้ก่อนหน้าวิกฤติรัฐยะไข่

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG