ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไร่ฝิ่นเมียนมากลับมาขยายตัวหลังหดหายมาหลายปี


FILE - A man harvests opium as he works in an opium field outside Loikaw, Kayah state, Myanmar, Nov. 30, 2016.
FILE - A man harvests opium as he works in an opium field outside Loikaw, Kayah state, Myanmar, Nov. 30, 2016.

ข้อมูลล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า เกษตรกรในเมียนมาเริ่มกลับมาทำไร่ฝิ่นกันมากขึ้น ในช่วงที่ราคาของผลผลิตซึ่งเป็นของต้องห้ามนี้กำลังพุ่งสูงและภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงเหวที่ทำให้อัตราการว่างงานสูง

สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime – UNODC) ระบุในรายงานที่ได้รับการเปิดเผยออกมาในวันพฤหัสบดีว่า ผลผลิตฝิ่นในเมียนมาในช่วงที่ผ่านมาพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลการปลูกมาในปี ค.ศ. 2002 โดยเหตุผลนั้นมาจากเงินลงทุนใหม่ ๆ จากกลุ่มติดอาวุธที่เข้ามาซื้อพืชผลและทำการลักลอบขนส่งเฮโรอีนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากฝิ่นออกนอกประเทศไป

นอกจากจะเป็นผู้จัดหายาบ้า (methamphetamine) ส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว เมียนมายังเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ตามหลังเพียงอัฟกานิสถาน และเป็นแหล่งผลิตฝิ่นสำคัญสำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ตามรายงานของ UNODC ฉบับนี้ที่มีชื่อว่า Myanmar Opium Survey 2022 เกษตรกรของเมียนมาปลูกต้นฝิ่นมากถึงกว่า 250,600 ไร่ในปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 33% โดยมีการระบุด้วยว่า สถิติการปลูกต้นฝิ่นมากที่สุดนั้นคือกว่า 361,200 ไร่ ในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งเป็นช่วงที่การปลูกนั้นพุ่งสูงสุด ก่อนที่ปริมาณการปลูกจะลดลงมาไม่ถึง 187,500 ไร่ในปี ค.ศ. 2020

เจเรมี ดักกลาส ตัวแทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เชื่อว่า สาเหตุหลักที่อัตราการปลูกต้นฝิ่นเพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะเศรษฐกิจของเมียนมาที่ล้มครืนหลังการก่อรัฐประหารของกองทัพในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2021

ดักกลาส บอกกับ วีโอเอ ว่า “ฝิ่นนั้นเป็นนายจ้างแห่งสุดท้ายในเมียนมามานานหลายทศวรรษแล้ว” และว่า “คนจำนวนมากไม่มีทางเลือกแต่ต้องกลับมาปลูกฝิ่นเพราะไม่มีอาชีพอื่นให้ทำมาหากิน งานต่าง ๆ ในเมืองเช่น ย่างกุ้ง หรือ มัณฑะเลย์ และส่วนอื่น ๆ ของประเทศก็หายวับไปหมด และผู้คนก็ต้องทิ้งเมืองเหล่านั้นกลับไปชนบท กลับมาทำไร่กัน”

ธนาคารโลกเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของเมียนมาหดตัวไป 18% ในปี ค.ศ. 2021 และภาวะความยากจนก็พุ่งขึ้นเท่าตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 ทำให้ประชากรราว 40% ของประเทศต้องอยู่ใต้เส้นความยากจนแห่งชาติ โดยรายงานของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ภาวะตกงานมากมายทำให้คนจำนวนมากทิ้งเมืองไปทำไร่ทำนากัน

FILE - A villager walks in a flourishing poppy field at Nampatka village, Northern Shan state, Myanmar on Jan. 27, 2014.
FILE - A villager walks in a flourishing poppy field at Nampatka village, Northern Shan state, Myanmar on Jan. 27, 2014.

ภายใต้ภาวะดังกล่าว พื้นที่บางจุดของเมียนมากลายมาเป็นจุดที่มีการเพาะปลูกต้นฝิ่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในรัฐชาน ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็นถิ่นของกองทัพกบฏทรงอำนาจที่สุดหลายกลุ่มที่มีประวัติค้ายามานานอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ปริมาณการปลูกฝิ่นในเมียนมาที่ว่าสูงเป็นอันดับสองของโลก ยังห่างไกลอย่างมากจากอันดับหนึ่งซึ่งก็คือ อัฟกานิสถาน ที่ข้อมูล UNODC ระบุว่า มีการปลูกเป็นพื้นที่มากถึงราว 1.45 ล้านไร่ในปีที่แล้ว

ถึงกระนั้น เจเรมี ดักกลาส จาก UNODC กล่าวว่า เฮโรอีนของเมียนมายังถือว่าเป็นของที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก และสถิติที่พุ่งสูงนี้อาจส่งสัญญาณว่า ยาเสพติดชนิดนี้จากเมียนมาอาจมีโอกาสขยายไปยังตลาดอื่น ๆ นอกเอเชีย เช่น ยุโรปและสหรัฐฯ ในไม่ช้านี้ โดยเฉพาะเมื่อทีมงานของ UNODC ที่ลงพื้นที่สำรวจประเมินว่า ปริมาณการเก็บเกี่ยวในฤดูหน้าน่าจะสูงกว่าในปีที่แล้วด้วย

หน่วยงานของยูเอ็นแห่งนี้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเร่งปราบปรามการลักลอบค้าสารเคมีควบคุมทั้งหลายที่ใช้ในการกลั่นสกัดฝิ่นให้กลายมาเป็นเฮโรอีน โดยเฉพาะ อาเซติก แอนไฮดรายด์ (acetic anhydride) ไม่ให้เข้าไปในรัฐชาน โดยส่วนใหญ่นั้นจะมาจากจีนและอินเดียซึ่งมีพรมแดนติดเมียนมา

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG