ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลเงาเมียนมาลั่น จะไม่ร่วมเจรจาจนกว่ากองทัพปล่อยตัวนักโทษการเมือง


Activists hold placards and banners during a protest to support the anti-coup movement and democracy in Myanmar, near the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) secretariat building, ahead of the ASEAN leaders' meeting in Jakarta, Indonesia April
Activists hold placards and banners during a protest to support the anti-coup movement and democracy in Myanmar, near the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) secretariat building, ahead of the ASEAN leaders' meeting in Jakarta, Indonesia April

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (National Unity Government of Myanmar​ - NUG) หรือ รัฐบาลเงา ที่ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่พ้นจากตำแหน่งหลังการทำรัฐประหาร กล่าวในที่ประชุมอาเซียนว่าจะไม่ร่วมเจรจาจนกว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่างหาทางออกให้เมียนมาจากวิกฤติการณ์นองเลือดที่ดำเนินมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและหันมาเจรจา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมรับข้อเสนอหาทางออกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยไม่มีตัวแทนจากทางฝั่งรัฐบาลเงาเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด

รัฐบาลเงา NUG ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนนี้โดยสมาชิกรัฐสภาที่พ้นจากตำแหน่งหลังรัฐประหาร นักการเมืองที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย และผู้นำการประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตย ระบุว่าอาเซียนควรมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเงามากกว่า ในฐานะรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนโดยชอบธรรม

มาน วิน ข่าย ถั่น นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเงา NUG ระบุในแถลงการณ์ว่า จะต้องมีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งประธานาธิบดีอู วิน มินท์ และนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ อย่างไม่มีเงื่อนไข ก่อนที่จะมีการหารืออย่างสร้างสรรค์ได้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนยังไม่มีความเห็นโดยทันทีต่อแถลงการณ์จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา

นายอู วิน มินท์ นางซูจี และบุคคลอื่น ๆ ถูกคุมตัวตั้งแต่การทำรัฐประหาร หลังจากที่รัฐบาลของนางซูจีเตรียมเข้าสู่สมัยที่สองหลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน

กองทัพเมียนมาระบุว่า ต้องมีการยึดอำนาจเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาไม่ยอมรับข้อร้องเรียนจากกองทัพว่ามีการโกงเลือกตั้ง โดยทางคณะกรรมการระบุว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม

มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายเมืองทั่วประเทศนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร โดยทางกองทัพสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 750 คน ตามข้อมูลจากกลุ่มนักกิจกรรม โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้ เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาจำกัดเสรีภาพสื่อและคุมขังนักข่าว

In this photo released by Indonesian Presidential Palace, ASEAN leaders, from left to right, Thai Foreign Minister Don Pamudwinai, Singapore's Prime Minister Lee Hsien Loong, Cambodian Prime Minister Hun Sen, Indonesian President Joko Widodo, Lao's Foreig
In this photo released by Indonesian Presidential Palace, ASEAN leaders, from left to right, Thai Foreign Minister Don Pamudwinai, Singapore's Prime Minister Lee Hsien Loong, Cambodian Prime Minister Hun Sen, Indonesian President Joko Widodo, Lao's Foreig

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อาเซียนจัดประชุมที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อกดดันให้มีการยุติวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยไม่ได้เชิญตัวแทนจากฝั่งรัฐบาลพลเรือนเมียนมาให้เข้าร่วมประชุม

ผู้นำชาติอาเซียนระบุหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีฉันทามติร่วมกันห้าข้อ เพื่อยุติความรุนแรงและสนับสนุนการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายในเมียนมา โดยทางฝั่งรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า จะพิจารณาข้อเสนอของอาเซียน “อย่างระมัดระวัง” โดยข้อเสนอดังกล่าวรวมถึง การแต่งตั้งทูตเพื่อเดินทางเยือนเมียนมา “เมื่อสถานการณ์กลับสู่ความมั่นคง” และเมื่อข้อเสนอของอาเซียนขับเคลื่อนแผนของรัฐบาลทหารและตอบสนองผลประโยชน์ของเมียนมาได้

นักกิจกรรมต่างวิจารณ์ข้อสรุปจากทางอาเซียนว่า แผนดังกล่าวช่วยสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร และไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของพวกเขา โดยเฉพาะการที่อาเซียนไม่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางซูจีและนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ โดยกลุ่ม Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า มีผู้ต่อต้านการทำรัฐประหารถูกคุมขังกว่า 3,400 คน

ผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาลแห่งชาติเมียนมา

สำนักข่าวเมียนมา นาว รายงานว่า ผู้ประท้วงเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลแห่งชาติในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันพุธ นอกจากนี้ การปะทะระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องอำนาจปกครองตนเอง ยังย่ำแย่ลงหลังมีการรัฐประหาร

Ethnic minority Karen troops are seen after setting fire to a building inside a Myanmar army outpost near the Thai border, which is seen from the Thai side on the Thanlwin, also known as Salween, riverbank in Mae Hong Son province, Thailand, April 28, 202
Ethnic minority Karen troops are seen after setting fire to a building inside a Myanmar army outpost near the Thai border, which is seen from the Thai side on the Thanlwin, also known as Salween, riverbank in Mae Hong Son province, Thailand, April 28, 202

มีการต่อสู้ระหว่างกองทัพบกเมียนมาและกองกำลังชาวกะเหรี่ยงที่ชายแดนตะวันออกของเมียนมาติดกับประเทศไทย และกับกองกำลังชาวคะฉิ่นทางตอนเหนือใกล้ชายแดนจีน นอกจากนี้ ยังมีการปะทะกันระหว่างนักกิจกรรมต้านรัฐประหารและกองกำลังความมั่นคงในรัฐชิน ทางชายแดนติดกับอินเดีย

เมื่อวันอังคาร กลุ่มกะเหรี่ยงยึดฐานที่มั่นของกองทัพบกเมียนมาใกล้ชายแดนไทย โดยชาวบ้านจากทางฝั่งไทยระบุว่า กองทัพเมียนมาโจมตีบริเวณดังกล่าวทางอากาศเมื่อวันพุธ แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ กลุ่มกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ตามชายแดน สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้านรัฐบาลทหารตามเมืองต่าง ๆ ของเมียนมา

XS
SM
MD
LG