ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลทหารเมียนมา เข้ายึดครองธุรกิจเหมืองหยกเต็มรูปแบบหลังยึดอำนาจ


Myanmar Jade
Myanmar Jade

ภายหลังการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดครองธุรกิจเหมืองหยกอันล้ำค่าของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จนสามารถทำเงินเข้ากระเป๋าที่นำไปต่อรองการจัดสรรปันส่วนอำนาจการปกครองได้อย่างเต็มที่ ตามรายงานของ สำนักข่าว เอพี

รายงานข่าวที่อ้างข้อมูลจากทีมนักวิจัยอิสระจาก Global Witness ที่ได้รับการเปิดเผยออกมาในวันอังคารระบุว่า ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาจัดการเข้าควบคุมเหมืองหยกต่างๆ ที่อยู่ในรัฐชินซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับจีน การสู้รบเพื่อแย่งชิงแหล่งผลิตอัญมณีล้ำค่าของประเทศในบริเวณดังกล่าวยกระดับความรุนแรงขึ้นจนกระทบเสถียรภาพในรัฐนี้แล้ว

ก่อนหน้าการยึดอำนาจครั้งล่าสุด กองทัพเมียนมาและกองโจรต่างๆ ในรัฐชินต่อสู้กันและกันมาเป็นเวลาหลายปี แต่ส่วนใหญ่นั้น ทั้งสองฝ่ายยอมร่วมมือกันเพื่อแบ่งปันผลกำไรจากธุรกิจเหมืองของประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสินแร่ชนิดนี้มากที่สุดในโลก แต่ขณะเดียวกันเหมืองหยกได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการทุจริตคอร์รัปชั่นอันร้อนแรงของเมียนมา แทนที่จะได้รับการปกป้องในฐานะทรัพย์สมบัติของชาติ

Global Witness ระบุว่า ความขัดแย้งและการทุจริตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่เมียนมา ทำให้ประเทศนี้ประสบภาวะขาดทุนจากธุรกิจดังกล่าวถึงปีละหลายสิบล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ทีมนักวิจัยนี้และผู้เชี่ยวชาญอีกหลายรายเห็นพ้องต้องกันว่า การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สร้างแรงกระเทือนต่อข้อตกลงการหยุดยิงที่ดำเนินอยู่รอบๆ พื้นที่เหมือง และทำให้การสู้รบระหว่างกลุ่มต่างๆ ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้รัฐบาลพลเรือนของ นาง ออง ซาน ซู จี ได้ริเริ่มกระบวนการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมเหมืองหยกของประเทศหลังชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2016 ด้วยการระงับการออกและการต่ออายุใบอนุญาตการทำเหมืองหยก และผ่านกฎหมายจำกัดอายุใบอนุญาตทำธุรกิจไม่ให้เกิน 3 ปี แต่ความพยายามทั้งหมดกลับยิ่งทำให้มีการลอบทำเหมืองอย่างผิดกฎหมายมากขึ้นไปอีก

คีล ดิเอทซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำรายงานล่าสุดนี้ ให้ความเห็นว่า ในเวลานี้ รัฐบาลทหาร ที่มีชื่อเรียกตามภาษาเมียนมาว่า ทัตมาดอว์ กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการออกใบอนุญาตตามอำเภอใจ เพื่อแลกกับความภักดี พร้อมๆ กับเสี้ยมกลุ่มคู่แข่งให้แตกคอกัน

Global Witness และกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมกันเรียกร้องให้ประชาคมโลกดำเนินมาตรการลงโทษที่มีความเข้มข้นกว่าในปัจจุบันต่อเมียนมา เพื่อสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลทหารหาประโยชน์จากเหมืองหยกล้ำค่าของประเทศตามอำเภอใจได้ต่อไป

อีดิธ มิรานเต ผู้อำนวยการโครงการ มาเฮ ซึ่งทำงานวิจัยด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมียนมา บอกกับผู้สื่อข่าวว่า หยกนั้นอาจะเป็นขุมทรัพย์ที่ทำเงินให้กองทัพเมียนมามากที่สุดแหล่งหนึ่ง นอกจากธุรกิจปิโตรเลียม

(ที่มา: สำนักข่าว เอพี)

XS
SM
MD
LG