ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบประโยชน์ของเสียงดนตรีต่อพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย


A new study says babies who listen to music develop language better. (U. of Washington)
A new study says babies who listen to music develop language better. (U. of Washington)

ผลการวิจัยของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยรัฐวอชิงตัน ชี้ให้เห็นว่าเสียงดนตรีสามารถช่วยพัฒนาการทำงานของสมองของเด็กทารกได้

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:17 0:00
Direct link

ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science นักวิจัยที่สถาบันเพื่อการเรียนรู้และวิทยาการดด้านสมอง หรือ I-LABS ของ University of Washington ระบุว่า หลังจากเด็กทารกวัย 9 เดือนได้ฝึกเล่นกับเสียงดนตรีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบว่าเด็กทารกนั้นมีพัฒนาการด้านดนตรีและการส่งเสียงอย่างเห็นได้ชัด

คุณ Christina Zhao นักวิจัยผู้ร่วมจัดทำรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า การศึกษาชิ้นนี้ถือเป็นชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า จังหวะดนตรีสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กทารกในการคาดเดาจังหวะการพูดของตัวเองได้ ซึ่งหมายความว่าการให้เด็กได้เรียนรู้หรือสัมผัสกับเสียงดนตรีตั้งแต่เนิ่นๆ อาจมีผลต่อความสามารถด้านสติปัญญาของเด็กได้เช่นกัน

นักวิจัยชี้ว่า เสียงดนตรีและภาษาพูดนั้นมีรูปแบบของจังหวะที่คล้ายกัน การที่เด็กทารกสามารถจำแนกเสียงต่างๆได้ จึงช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาของเด็กได้ด้วย

คุณ Patricia Kuhl ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า เด็กทารกเรียนรู้โลกที่ซับซ้อนผ่านทางเสียง แสงและสัมผัส โดยเด็กจะจดจำรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ และคาดทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ดังนั้นการรับรู้เกี่ยวกับรูปแบบใดๆโดยเฉพาะ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก ซึ่งการพัฒนาทักษะนี้ตั้งแต่เยาว์วัยอาจช่วยเสริมสร้างทักษะในการเรียนรู้ได้ในระยะยาว

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กทารก 39 คน ซึ่งทดสอบด้วยการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองเป็นเวลา 12 - 15 นาที โดยแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ฟังดนตรีและทำกิจกรรมตามจังหวะไปด้วยขณะเล่น ส่วนกลุ่มที่สองไม่มีเสียงดนตรีและให้เล่นกับของเล่นเด็กธรรมดา

หลังจาก 1 สัปดาห์ผ่านไป นักวิจัยได้ลองตรวจสอบการทำงานของสมองของเด็กทารกกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม โดยใช้วิธีสังเกตคลื่นสมองจากภาพเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขณะที่เด็กฟังเสียงดนตรีหรือเสียงพูดไปด้วย

นักวิจัยพบว่า แม้คลื่นสมองเด็กทารกทั้งสองกลุ่มต่างมีการตอบสนองต่อจังหวะหรือรูปแบบของเสียงดนตรีและเสียงพูดเหมือนกัน แต่กลุ่มที่ฟังเสียงดนตรีขณะทำกิจกรรมในเวลา 1 สัปดาห์ มีการตอบสนองของคลื่นสมองที่แข็งแรงกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งอาจชี้ให้เห็นได้ว่าเด็กกลุ่มนี้ได้มีการพัฒนาการรับรู้รูปแบบของเสียงดนตรีนั้นได้มากกว่า

คุณ Patricia Kuhl ชี้ว่างานวิจัยชิ้นนี้อาจช่วยทำให้เราได้ทราบยิ่งขึ้นว่า เสียงดนตรีมิได้มีประโยชน์แค่ความรื่นรมย์หรือผ่อนคลาย แต่ยังอาจช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถตอบสนองต่อรูปแบบต่างๆ บนโลกที่ซับซ้อนนี้ ได้ดียิ่งขึ้น

XS
SM
MD
LG