ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จากจอเงินสู่ความจริง! สหรัฐฯ ปักหมุดตั้งฐานบนดวงจันทร์


แฮร์ริสัน ชมิทท์ ถูกบันทึกภาพระหว่างยืนอยู่ข้าง ถัดจากก้อนหินขนาดใหญ่ ที่สถานี 6 บนฐานลาดเอียงของนอร์ธแมสซีฟ ระหว่างกิจกรรมนอกยานพาหนะอพอลโล 17 ครั้งที่ 3 (EVA-3) บริเวณทอรัส-ลิตโทรว แลนด์ดิง ไซต์ (องค์การนาซา)
แฮร์ริสัน ชมิทท์ ถูกบันทึกภาพระหว่างยืนอยู่ข้าง ถัดจากก้อนหินขนาดใหญ่ ที่สถานี 6 บนฐานลาดเอียงของนอร์ธแมสซีฟ ระหว่างกิจกรรมนอกยานพาหนะอพอลโล 17 ครั้งที่ 3 (EVA-3) บริเวณทอรัส-ลิตโทรว แลนด์ดิง ไซต์ (องค์การนาซา)

การมีฐานบนดวงจันทร์ในอนาคตคือเป้าหมายขององค์การอวกาศนาซาของสหรัฐฯ โดยมีความมุ่งหวังว่าจะส่งมนุษย์กลับคืนสู่ดวงจันทร์ภายในเวลาสองปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจระหว่างประเทศ อาร์เทมิส (Artemis) ภายใต้ข้อตกลง Artemis Accords

การอาศัยอยู่บนดวงจันทร์เหมือนดังที่เคยจินตนาการไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Project Moon Base ในปี 1953 ซึ่งเป็นเรื่องราวของการค้นพบและความตื่นเต้นในโลกอวกาศแห่งอนาคต หรือจะเป็นเรื่องราวความสนุกสนานทั่ว ๆ ไป อย่างเช่นการที่เด็ก ๆ เล่นเบสบอลบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของดิสนีย์ที่มีชื่อว่า Crater

การใช้ชีวิตบนดวงจันทร์ดังกล่าวอาจกลายเป็นความจริงได้ในไม่ช้านี้ โดยเรื่องนี้เป็นผลงานของภารกิจอาร์เทมิส 1 ซึ่งปล่อยยานอวกาศที่ไม่มีลูกเรือขึ้นโคจรรอบดวงจันทร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 และเตรียมจะส่งนักบินอวกาศ 4 คนขึ้นบินสู่ดวงจันทร์ภายในเดือนกันยายนปีหน้าภายใต้ภารกิจอาร์เทมิส 2 และมีกำหนดจะส่งมนุษย์กลับขึ้นไปบนดวงจันทร์ภายใต้ภารกิจอาร์เทมิส 3 ภายในปี 2026

นอกจากนี้ อาร์เทมิสจะสร้างสถานีอวกาศในวงโคจรดวงจันทร์ที่เรียกว่า Gateway ซึ่งเป็นด่านหน้าสำหรับภารกิจไปยังดวงจันทร์ในอนาคต และเป็นจุดเตรียมการสำหรับการสำรวจอวกาศห้วงลึกในอนาคตอีกด้วย โดยโมดูลหลักสองโมดูลควรจะได้รับการติดตั้งภายในปลายปี 2025

ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวอยู่ภายใต้ Artemis Accords ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ อีก 32 ประเทศ ณ เดือนธันวาคม ปี 2023 โดยข้อตกลงดังกล่าวเรียกร้องให้มีการสำรวจอย่างสันติ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากห้วงอวกาศ

นีล นิวแมน รองผู้อำนวยการสำนักงานระหว่างประเทศขององค์การอวกาศนาซ่ากล่าวว่า “อินเดียได้ลงนามในข้อตกลงในปีนี้ โดยมีประเทศที่เล็ก ๆ เช่น ลักเซมเบิร์ก สิงคโปร์ และยังมีหลาย ๆ ประเทศในแอฟริกา โดยแองโกลาเป็นประเทศผู้ลงนามล่าสุด

นอกจากนี้ยังมีประเทศผู้ลงนามอื่น ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา และ 13 ประเทศในยุโรป ส่งนรัสเซียกับจีนนั้นไม่ได้ร่วมลงนาม โดยรัสเซียได้เอ่ยถึงข้อตกลงที่นำโดยนาซาว่านี้ว่า "มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางมากเกินไป" และทั้งสองประเทศวางแผนที่จะสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์ของตนร่วมกัน

เจมส์ เวิร์ทซ ผู้บริหาร Microcosm ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างถังเชื้อเพลิงสำหรับการสนับสนุนภารกิจถัดไปกล่าวว่า อาร์เทมิสต้องอาศัยพันธมิตรทางการค้า ในการเป็นแบบอย่างที่สำคัญ และว่าภาคเอกชนมีความสำคัญต่ออนาคตของดวงจันทร์ เช่นในเรื่องของการมีนักท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องพักในโรงแรม ดังนั้นก็ต้องมีการสร้างโรงแรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

เขากล่าวด้วยว่า เรามีเทคโนโลยีและทรัพยากรบนดวงจันทร์ซึ่งได้แก่ น้ำแช่แข็งและฮีเลียม-3 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าสามารถผลิตพลังงานได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชั่นที่สามารถใช้งานได้

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่านาซาสามารถทำงานร่วมกับกับพันธมิตรภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ และประเทศอื่น ๆ พัฒนาความสามารถในการใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้คือการช่วยให้การเดินทางในอวกาศมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ และขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จในวันข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม ฐานถาวรบนดวงจันทร์จะยังไม่ถูกสร้างขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย

แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าภาพต่าง ๆ จากภาพยนตร์ฮอลลีวูดบางภาพอาจกลายเป็นความจริงได้ เนื่องจากภารกิจอาร์เทมิสได้นำภาพเหล่านั้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะนำมนุษย์กลับไปสู่ดวงจันทร์

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG