ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มาเลเซียขู่อียู พร้อมหยุดส่งออกน้ำมันปาล์มให้ หลังออกกฎหมายใหม่กระทบธุรกิจ


FILE - A worker loads palm oil fruits onto a lorry at a palm oil plantation in Sepang, Malaysia.
FILE - A worker loads palm oil fruits onto a lorry at a palm oil plantation in Sepang, Malaysia.

มาเลเซียเปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า อาจจะหยุดการส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อตอบโต้กฎหมายใหม่ของกลุ่มที่มุ่งปกป้องผืนป่าด้วยการจำกัดธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

ฟาดิลเลาะห์ ยูซอฟ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียและอินโดนีเซียจะหารือเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ของอียู ซึ่งสั่งห้ามการจำหน่ายน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า เว้นแต่กรณีที่ผู้นำเข้าสามารถแสดงหลักฐานว่า กระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการทำลายผืนป่า

อียู คือ ผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่รายหนึ่งของโลก และการผ่านกฎหมายใหม่ออกมาในเดือนธันวาคมทำให้เกิดเสียงร้องไม่พอใจจากทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มชั้นนำของโลกทันที

รมต.ฟาดิลเลาะห์ กล่าวในวันพฤหัสบดีว่า “ถ้าเราต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อดำเนินการโต้กลับอะไรก็ตามที่อียูทำอยู่ เราก็จะทำ” และว่า “หรือไม่ อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ เราแค่หยุดส่งออกไปยุโรป และมุ่งสนใจประเทศอื่น ๆ ถ้าพวกเขา (อียู) จะทำให้เราต้องมีปัญหาในการส่งออกไปให้พวกเขา”

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวโทษอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มว่า เป็นต้นเหตุของการถางป่าฝนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่า อินโดนีเซียและมาเลเซียจะจัดทำมาตรฐานการรับรองความยั่งยืนและบังคับใช้กับไร่สวนทุกแห่งแล้วก็ตาม

This aerial picture taken from a drone on January 9, 2019 shows trees in the Leuser ecosystem rainforest in the Subulussalam district, Aceh province. - The Leuser ecosystem, an area of stunning beauty where peat swamp and dense forest surround waterfalls and mountains poking through clouds, is under threat from the aggressive expansion of palm oil and pulp and paper plantations. . (Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP)
This aerial picture taken from a drone on January 9, 2019 shows trees in the Leuser ecosystem rainforest in the Subulussalam district, Aceh province. - The Leuser ecosystem, an area of stunning beauty where peat swamp and dense forest surround waterfalls and mountains poking through clouds, is under threat from the aggressive expansion of palm oil and pulp and paper plantations. . (Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP)

รมต.ฟาดิลเลาะห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้วย ยังเรียกร้องให้สมาชิกสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (Council of Palm Oil Producing Countries – CPOPC) ที่มีมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้นำกลุ่มอยู่ ให้ทำงานร่วมกันเพื่อต้านกฎหมายใหม่ของอียู และจัดการกับ “คำกล่าวหาอันไร้มูล” จากทั้งอียูและสหรัฐฯ เกี่ยวกับความยั่งยืนของน้ำมันปาล์มด้วย

ขณะเดียวกัน มิคาลิส โรคาส ทูตอียูประจำมาเลเซีย กล่าวว่า อียูไม่ได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียและปฏิเสธว่า กฎหมายต้านการตัดไม้ทำลายป่านี้จะนำมาซึ่งการกีดกันการส่งออกต่อมาเลเซีย

รายงานข่าวระบุว่า มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันปาล์มของอียูน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า หรือก่อนเป้าหมายที่กฎหมายฉบับใหม่นี้กำหนดไว้เสียอีก

เมื่อปี ค.ศ. 2018 อียูได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลดการใช้เชื้อเพลิงสำหรับระบบขนส่งที่มาจากน้ำมันปาล์มให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 เนื่องจากน้ำมันดังกล่าวมีส่วนทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า

ในเรื่องนี้ อินโดนีเซียและมาเลเซียต่างยื่นเรื่องฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) โดยอ้างว่า มาตรการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงน้ำมันปาล์มเป็นการเลือกปฏิบัติและนำมาซึ่งการกีดกันทางการค้า

และในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซียและนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ตกลงที่จะ “ร่วมต่อสู้การเลือกปฏิบัติต่อน้ำมันปาล์ม” และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านความร่วมมือผ่านกลุ่ม CPOPC แล้ว

ข้อมูลจาก Malaysian Palm Oil Board ระบุว่า อียู คือ ผู้บริโภคน้ำมันปาล์มที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และเป็นลูกค้านำเข้าน้ำมันปาล์มสัดส่วน 9.4% ของผลผลิตรวมของมาเลเซียในปี ค.ศ. 2022 ด้วยปริมาณการนำเข้า 1.47 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดจากระดับ 10.5% ในปีก่อนหน้า

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG