ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การศึกษาชี้ดวงอาทิตย์ "นิ่ง”กว่าดาวฤกษ์อื่น ดีต่อชีวิตบนโลก


This file photo shows a medium-sized (M2) solar flare and a coronal mass ejection (CME) erupting from the same, large active region of the Sun on July 14, 2017. NASA/GSFC/Solar Dynamics Observatory/Handout via REUTERS
This file photo shows a medium-sized (M2) solar flare and a coronal mass ejection (CME) erupting from the same, large active region of the Sun on July 14, 2017. NASA/GSFC/Solar Dynamics Observatory/Handout via REUTERS
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:31 0:00

การศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่าดวงอาทิตย์ของเราดูจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องความสว่างและความเข้มข้นของแสงน้อยกว่าดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน

นักวิจัยรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากการตรวจสอบดาวฤกษ์อื่นๆ 369 ดวง โดยเปรียบเทียบกับดวงอาทิตย์ในแง่ของอุณหภูมิพื้นผิว ขนาด และการหมุนรอบตัวเอง และพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ มีความแปรปรวนของความสว่างและความเข้มของแสงมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึงห้าเท่า

Timo Reinhold นักดาราศาสตร์จากสถาบัน Max Planck Institute for Solar System Research ในเยอรมนี หัวหน้าการเขียนรายงานฉบับนี้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าความแปรปรวนของความสว่างเป็นผลมาจากจุดดำบนพื้นผิวของดาวฤกษ์ และว่าการพบดาวฤกษ์ที่มีตัวแปรต่างๆ คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรามาก แต่มีความแปรปรวนมากกว่าถึงห้าเท่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ

ดวงอาทิตย์ของเรานั้นประกอบด้วยแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ และเป็นดาวฤกษ์ขนาดที่พบได้ทั่วไปซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อ 4,500 ล้านปีที่แล้ว มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ล้าน 4 แสนกิโลเมตร และมีอุณหภูมิพื้นผิวอยู่ที่ 5,500 องศาเซลเซียส

นักวิจัยได้เปรียบเทียบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ กับบันทึกทางประวัติศาสตร์ของพฤติกรรมของดวงอาทิตย์ โดยรวบรวมข้อมูลการสังเกตการณ์จุดดำบนดวงอาทิตย์ประมาณ 400 ปี รวมทั้งข้อมูลการแปรผันขององค์ประกอบทางเคมีในวงปีของต้นไม้และการสะสมของน้ำแข็งที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมดวงอาทิตย์เป็นเวลา ประมาณ 9,000 ปี บันทึกเหล่านี้แสดงว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ มากไปกว่าในปัจจุบันเลย

การค้นพบว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากเท่าดาวฤกษ์ที่คล้ายกันดวงอื่นๆ อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับทุกชีวิตบนโลก เพราะดวงอาทิตย์ที่มีพลังมากเกินไปอาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิอากาศของโลก และจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำหรับสภาพชีวิตบนโลกใบนี้ได้ นอกจากนั้นการเหนี่ยวนำของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากจุดดำที่เพิ่มบนดวงอาทิตย์จะส่งผลกระทบต่อโลก และอาจทำให้เกิดปัญหาต่อดาวเทียมและอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ บนโลกได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ดวงอาทิตย์อาจอยู่ในช่วงเวลาที่เงียบสงบ และอาจมีความแปรปรวนมากกว่าเดิมได้ในอนาคต แต่นักวิจัยกล่าวว่าการทำนายพฤติกรรมของดวงอาทิตย์ในช่วง 11 ปีข้างหน้านี้บ่งชี้ว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ค่อนข้างแน่ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการอยู่กับดวงอาทิตย์ที่ค่อนข้างน่าเบื่อคงไม่ใช่ทางเลือกที่แย่ที่สุดสำหรับมนุษย์แต่อย่างใด

XS
SM
MD
LG