ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หมออินโดฯ เสียชีวิตเพิ่ม 114 คนเดือนนี้แม้ฉีดวัคซีนโควิดครบแล้ว


A mortuary team in full hazmat suits lowers the casket of a COVID-19 victim at a special cemetery in TPU Rorotan, north Jakarta, Indonesia, July 8, 2021. Some 200-400 bodies get buried there per day. (Indra Yoga/VOA Indonesian)
A mortuary team in full hazmat suits lowers the casket of a COVID-19 victim at a special cemetery in TPU Rorotan, north Jakarta, Indonesia, July 8, 2021. Some 200-400 bodies get buried there per day. (Indra Yoga/VOA Indonesian)

การระบาดของโควิด-19 ในอินโดนีเซียกำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ หลังจากที่มีแพทย์อินโดนีเซียเสียชีวิตจากโควิดแล้ว 114 คนเฉพาะในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นสองเท่าจากเดือนที่แล้ว อ้างอิงจากข้อมูลของเครือข่ายคณะทำงานเพื่อการบรรเทาทุกข์ของสมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย หรือ Indonesian Medical Association (IDI)

ตัวเลขหมอที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นนี้มีขึ้นในขณะที่ทางการอินโดนีเซียระบุว่า 95% ของบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว

เมื่อวันอาทิตย์ มเหสา พาราณาดิพา เมเกล (Mahesa Paranadipa Maikel) หัวหน้าคณะทำงานเพื่อการบรรเทาทุกข์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงจาการ์ตาว่า ตัวเลขแพทย์ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเดือนนี้ อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้

จนถึงขณะนี้ มีแพทย์ในอินโดนีเซียเสียชีวิตจากโควิดแล้ว 545 ราย โดยจังหวัดชวาตะวันออกมีแพทย์เสียชีวิต 110 คน รองลงมาคือที่กรุงจาการ์ตา 83 คน และจังหวัดชวากลาง 81 คน

ทั้งนี้ แพทย์ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดมากที่สุดในอินโดนีเซีย คือ แพทย์ทั่วไป สูติแพทย์ อายุรแพทย์ และศัลยแพทย์

รายงานยังระบุด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 ในอินโดนีเซีย ทำให้มีพยาบาลเสียชีวิตแล้ว 445 คน พยาบาลผดุงครรภ์ 223 คน เภสัชกร 42 คน และเจ้าหน้าที่ในห้องแล็บอีก 25 คน

เริ่มใช้โมเดอร์นาเป็นบูสเตอร์

รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดฯ บูดี กูนาดี ซาดีกิน (Budi Gunadi Sadikin) กล่าวว่า เวลานี้รัฐบาลได้เริ่มฉีดวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาเป็นบูสเตอร์ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนของบริษัทซิโนแวคไปแล้วสองเข็ม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของบรรดาบุคลากรด่านหน้าเหล่านั้น หลังจากที่พบว่าวัคซีนของซิโนแวคมีประสิทธิผลน้อยกว่าในการป้องกันการติดเชื้อเมื่อเทียบกับวัคซีนของบริษัทอื่น ๆ

วินธุ เพอร์โนโม (Windhu Purnomo) นักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา กล่าวกับ VOA ว่า สถานการณ์ในอินโดนีเซียอาจย่่ำแย่ลงอีกเนื่องจาก 3 ปัจจัย คือ การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ความล้มเหลวของมาตรการล็อกดาวน์ และการระบาดของสายพันธุ์เดลตา


รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มล็อกดาวน์ทั่วประเทศมาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการรับมือการระบาดของอินโดนีเซีย กล่าวกับ VOA ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะขยายเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกหรือไม่

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 5,000 คนต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีผู้เสียชีวิตในอัตราสูงกว่า 1,000 คนต่อวัน ทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมในอินโดนีเซียแล้วกว่า 2.8 ล้านคน เสียชีวิตสะสมมากกว่า 72,000 คน ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์

XS
SM
MD
LG