ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มองนโยบายว่าที่ปธน.อินโดฯ 'ซูเบียนโต' กับประเด็นสานสัมพันธ์จีน


ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิและว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย
ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิและว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย

ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย และอดีตนายพลผู้เคยวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างแข็งกร้าว กำลังจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียหลังจากที่เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่แแล้ว

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ อินโดนีเซียจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความสัมพันธ์กับกรุงปักกิ่งมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลว่า การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ และการลงทุนของจีนที่มาพร้อมกับปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อาจเป็นบททดสอบสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียผ่านการลงทุนในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลของประเทศหมู่เกาะแห่งนี้

จีนลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย รวมถึงโครงการรางรถไฟความเร็วสูง จาการ์ตา-บันดุง ซึ่งเปิดใช้เมื่อเดือนตุลาคม และโครงการแผงโซลาร์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชีย ซิราตา (Cirata)

ไฟซาล นูร์ดิน ไอดริส นักวิชาการฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งสถาบัน UIN Jakarta กล่าวกับวีโอเอว่า ตนไม่คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในความสัมพันธ์ของสองประเทศ "ปธน.โจโค วิโดโด ได้สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงไว้แล้วกับจีน"

(แฟ้มภาพ) ปธน.โจโก วีโดโด แห่งอินโดนีเซีย พบกับปธน.จีน สี จิ้นผิง ระหว่างการประชุมจี20 ที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019
(แฟ้มภาพ) ปธน.โจโก วีโดโด แห่งอินโดนีเซีย พบกับปธน.จีน สี จิ้นผิง ระหว่างการประชุมจี20 ที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019

เมื่อปี 2019 ปราโบโวลงแข่งชิงตำแหน่งปธน. และได้วิจารณ์ความสัมพันธ์อันดีระหว่างวิโดโดกับรัฐบาลจีน โดยกล่าวหาว่าแรงงานจากจีนเข้ามาแย่งงานคนอินโดฯ แต่ท่าทีของปราโบโวเปลี่ยนไปในการหาเสียงครั้งล่าสุด เขายืนยันว่าต้องการผูกสัมพันธ์กับกรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตันไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม เตอูกู เรซาสยาห์ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยปัดจัดจารัน กล่าวว่า การลงทุนของจีนในอินโดนีเซียมาพร้อมกับปัญหาความปลอดภัยตามโรงงานต่าง ๆ และมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ปราโบโวจำเป็นต้องทบทวนอย่างระมัดระวังก่อนเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคมปีนี้ ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่กระแสต่อต้านจีนในประเทศได้

"การลงทุนบางอย่างจากจีนในอินโดนีเซียมาเร็วเกินไป ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการตัดสินใจทางการเมือง" อาจารย์เตอูกูกล่าว พร้อมชี้ถึงการประท้วงที่โมโรวาลีว่าเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านพบว่าการลงทุนจากจีนนั้นไม่เป็นประโยชน์สำหรับพวกเขา

เมื่อปลายปีที่แล้ว เกิดเหตุระเบิดที่โรงงานแปรรูปแร่นิกเกิลของจีนแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมโมโรวาลีซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน และถือเป็นอุบัติเหตุครั้งที่สามที่โรงงานนิกเกิลของจีนบนเกาะสุลาเวสีในช่วงหนึ่งปี นำไปสู่การประท้วงของคนงานหลายร้อยคน และในสัปดาห์นี้ ตำรวจอินโดฯ ได้ระบุตัวผู้ต้องหาชาวจีนสองคน

นอกเหนือไปจากประเด็นการลงทุนของจีน นักวิเคราะห์ยังเตือนถึงประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ซึ่งทั้งจีนและอินโดนีเซียต่างกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์บนพื้นที่ทับซ้อน แม้จะยังไม่มีการเผชิญหน้าทางทะเลระหว่างสองประเทศนี้ก็ตาม

โยฮาเนส สุไลมาน อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยเจนเดรัล อาชหมัด ยานี (Universitas Jenderal Achmad Yani) กล่าวว่า หากจีนยังคงขยายอิทธิพลทางทหารในทะเลจีนใต้ต่อไป ปราโบโวอาจตัดสินใจตอบโต้อย่างก้าวร้าวได้

"การตอบโต้ของปราโบโวขึ้นอยู่กับท่าทีของจีน หากจีนใช้หัวฉีดน้ำแรงดันสูงเหมือนที่ทำกับฟิลิปปินส์ ก็คาดได้ว่าอาจจะมีการโต้ตอบด้วยการใช้กำลังลักษณะเดียวกันจากอินโดนีเซีย ซึ่งแตกต่างจากท่าทีของวีโดโด" อาจารย์สุไลมานกล่าว

ด้าน ไฟซาล นูร์ดิน ไอดริส แห่ง UIN Jakarta เชื่อว่า ปราโบโวจะหารือประเด็นทะเลจีนใต้กับประเทศอื่นในสมาคมอาเซียนที่มีข้อพิพาทกรณีเดียวกันกับจีน โดยหวังว่าประเทศเหล่านั้นจะร่วมแสดงจุดยืนเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อต้านปักกิ่ง

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG