ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: เมื่อ 'อินเดีย' จับมือ 'เวียดนาม' คานอำนาจจีนในทะเลจีนใต้


Indian President Ram Nath Kovind, left, shakes hands with Vietnamese President Nguyen Phu Trong before heading for talks behind closed doors in Hanoi, Vietnam, Tuesday, Nov. 20, 2018.
Indian President Ram Nath Kovind, left, shakes hands with Vietnamese President Nguyen Phu Trong before heading for talks behind closed doors in Hanoi, Vietnam, Tuesday, Nov. 20, 2018.
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:41 0:00

ประธานาธิบดีอินเดียเดินทางเยือนเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อคานอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับเวียดนาม เริ่มต้นขึ้นเมื่อทศวรรษ 1970 เมื่อบรรดาผู้นำเวียดนามในขณะนั้นพยายามสานสัมพันธ์ไปยังอินเดีย และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อสองปีก่อน อินเดียและเวียดนามได้ตกลงเพิ่มความสัมพันธ์เป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต้านทานอิทธิพลของจีนในเอเชีย

และเมื่อเดือนตุลาคม อินเดียและเวียดนามได้จัดซ้อมรบร่วมกันเป็นครั้งแรกในอ่าวเบงกอล นอกจากนี้ อินเดียยังได้เสนอเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์แก่เวียดนามสำหรับการซื้ออาวุธ รวมทั้งเสนอติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิในแถบทะเลจีนใต้ให้กับเวียดนาม

คุณซาเมียร์ ลัลวานี (Sameer Lalwani) แห่งโครงการเอเชียใต้ศึกษา ของศูนย์วิจัย Stimson กล่าวว่า อินเดียต้องการเสริมศักยภาพของเวียดนามในการแข่งขันกับจีน โดยเฉพาะในประเด็นทะเลจีนใต้ โดยมีเป้าหมายหลักคือการขยายอิทธิพลของอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหมือนที่จีนกำลังขยายอิทธิพลของจีนเข้ามาไปในแถบเอเชียใต้

หลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามและจีนในประเด็นเรื่องการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนของทะเลจีนใต้นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเมื่อไม่นานนี้ อินเดียได้ส่งเรือลาดตระเวนไปสมทบกับเรือของสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ในการเดินเรือผ่านเส้นทางในทะเลจีนใต้เพื่อแสดงเสรีภาพของการเดินทางผ่านน่านน้ำบริเวณนั้น

คุณตรึง เหงียน แห่งศูนย์ศึกษาด้านการต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโฮจิมินท์ ชี้ว่า เวียดนามต้องการให้อินเดียมีบทบาทมากขึ้นในเอเชีย หลังจากเข้าร่วมในกลุ่มพันธมิตร 4 ฝ่าย ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย

ในขณะเดียวกัน บริษัทพลังงานของรัฐบาลอินเดีย ONGC ได้ร่วมมือกับบริษัท PetroVietnam Exploration Production Corp เพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลกรุงปักกิ่ง

คุณแม็คฟีลด์ บราวน์ (Maxfield Brown) นักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Dezan Shira & Associates ในนครโฮจิมินท์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการสำรวจหาแหล่งน้ำมันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาจปลุกให้เกิดความขัดแย้งในแถบนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าเวียดนามกำลังมองหาประเทศที่พร้อมจะลงทุนในการสำรวจ โดยที่ไม่เกรงกลัวการคุกคามจากจีน และอินเดียคือหนึ่งในประเทศดังกล่าว

ขณะที่คุณโมฮาน มาลิค (Mohan Malik) แห่งสถาบัน Daniel K. Inouye Asia Pacific Center for Security Studies ในสหรัฐฯ ชี้ว่า หลายปีที่ผ่านมา จีนต่อต้านการร่วมมือสำรวจหาแหล่งน้ำมันในทะเลจีนใต้ระหว่างอินเดียกับเวียดนามอย่างเปิดเผย แต่อินเดียก็ยังยืนกรานปฏิเสธที่จะยุติความร่วมมือนี้ และพร้อมที่จะส่งสัญญาณให้จีนเห็นว่า เมื่อจีนไม่เกรงที่จะขยายอิทธิพลทางทะเลในเอเชีย อินเดียก็พร้อมจะต้านทานอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้เช่นกัน

(ผู้สื่อข่าว Ralph Jennings รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG