ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คาเฟ่เพื่อเหยื่อสาดน้ำกรดในอินเดียฉลองครบรอบสองปี


Laxmi Agarwal, an icon among acid attack survivors says they too have a right to hopes and dreams. (A. Pasricha for VOA)
Laxmi Agarwal, an icon among acid attack survivors says they too have a right to hopes and dreams. (A. Pasricha for VOA)
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:54 0:00

ที่อินเดียมีเหตุการณ์สาดน้ำกรดเกิดขึ้นมากที่สุดในโลก และการทำร้ายร่างกายด้วยวิธีนี้ในอินเดียยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย

หน่วยงานไม่หวังผลกำไรในอินเดีย Stop Acid Attacks ซึ่งรณรงค์ต่อต้านการสาดน้ำกรด ได้เปิดตัวและสร้างความตระหนักแก่คนทั่วไปถึงความเลวร้ายการสาดน้ำกรดในอินเดีย

ที่ร้านคาเฟ่ "Sheroes Hangout" ในเมืองอัคระ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวมีชื่อของอินเดีย กำลังมีงานฉลองครบรอบปีที่สองของร้านคาเฟ่ มีการตกเเต่งด้วยดอกเบญจมาศสีเหลืองอร่ามเต็มร้าน หญิงกลุ่มหนึ่งกำลังร้องเพลงเเละเต้นรำตามท่วงทำนองเพลงอย่างสนุกสนาน โดยไม่ใส่ใจต่อเสียงเเตรรถยนต์จากการจราจรที่คับคั่งในช่วงค่ำคืน

หญิงเหล่านี้เป็นเหยื่อที่ถูกสาดน้ำกรด!

คาเฟ่ Sheroes Hangout เป็นร้านที่ดำเนินการโดยผู้หญิงที่ถูกสาดน้ำกรดกลุ่มนี้ ร้านคาเฟ่เปิดโอกาสให้พวกเธอได้กลับสู่สังคมอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหนีหน้าเพราะไม่อยากให้ใครเห็นแผลเป็นบนใบหน้า

ร้านคาเฟ่แห่งนี้เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยหน่วยงานพัฒนาเอกชนไม่หวังผลกำไร Stop Acid Attacks ที่ตั้งอยู่ในกรุงนิวเดลลี นอกจากจะว่าจ้างผู้หญิงที่รอดชีวิตจากการถูกสาดน้ำกรดเข้าทำงานเเล้ว ยังมุ่งสร้างความตื่นตัวเเก่คนทั่วไปให้เข้่าใจถึงความทุกข์ของผู้หญิงและเด็กหญิงที่ต้องหายหน้าไปจากสังคมหลังจากถูกสาดน้ำกรด เเละส่งเสริมให้ต่อต้านการสาดน้ำกรด

ในปีนี้ ทางหน่วยงาน Stop Acid Attack ได้เปิดคาเฟ่ขึ้นอีกสองแห่งที่เมืองลัคเนาและเมืองอุทัยปุระ

Dolly Kumari Singh อายุ 17 ปี เป็นหญิงที่อายุน้อยที่สุด เธอตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือตามปกติเเล้ว หลังจากเคยถูกชายคนหนึ่งสาดน้ำกรดสองปีที่แล้ว การได้ทำงานในคาเฟ่เเห่งนี้ช่วยให้เธอมีกำลังใจขึ้นที่จะกลับไปเรียนหนังสือ

Singh บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ตอนกลับไปโรงเรียน เธอกังวลว่าเพื่อนๆ จะไม่ยอมพูดด้วย และเธอดีใจมากที่เพื่อนๆ และคุณครูพูดและปฏิบัติกับเธออย่างดี ทำให้เธออยากไปโรงเรียนทุกวัน

ในอินเดีย นอกจากจะมีเหตุการณ์สาดน้ำกรดที่มากที่สุดในโลกเเล้ว การทำร้ายร่างกายคนอื่นด้วยวิธีนี้ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย มีรายงานว่าเกิดเหตุสาดน้ำกรดราว 350 ครั้งในปี ค.ศ. 2014

ผู้ลงมือมักเป็นผู้ชายที่ต้องการเเก้เเค้นที่ผู้หญิงปฏิเสธคำขอเเต่งงาน ความพยามยามลวนลามทางเพศที่ล้มเหลว หรือเเม้เเต่ไม่มีสินสอดทองหมั้นพอตามคำขอของครอบครัวฝ่ายหญิง

Laxmi Agarwal อายุ 28 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่กำลังเต้นรำตามจังหวะเพลงในร้านคาเฟ่แห่งนี้ เธอถูกสาดน้ำกรดเมื่อปี ค.ศ. 2005 และได้กลายเป็นนักรณรงค์คนสำคัญคนหนึ่งเพื่อเหยื่อที่ถูกสาดน้ำกรด

เธอกล่าวว่าคนทั่วไปได้ยินเรื่องราวของเหยื่อที่ถูกทำร้ายทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว แต่คนไม่ค่อยรู้มากนักเกี่ยวกับเหยื่อของการสาดน้ำกรด เธอเข้าร่วมกลุ่มกับผู้หญิงอีกสิบกว่าคนที่ดูแลกิจการร้านคาเฟ่สามเเห่งดังกล่าว

ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า ทัศนคติของคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะในช่วงสองปีที่ผ่านมา ลูกค้าหลายร้อยคน ทั้งคนอินเดียและชาวต่างชาติ ได้รู้จักกับผู้หญิงเหยื่อสาดน้ำกรดเหล่านี้ ทั้งที่ทำงานเป็นกุ๊ก พนักงานเสิร์ฟ และผู้จัดการของร้านคาเฟ่ Sheroes Hangout

แต่ที่สำคัญที่สุด ร้านคาเฟ่ทั้งสามเเห่งได้ช่วยสร้างความมั่นใจและกำลังใจเเก่เหยื่อให้พยายามก้าวไปข้างหน้า Agarwal กล่าวว่าพวกเธอจะไม่หยุดฝัน จะไม่หยุดไคว่คว้าหาความสุข พวกเธอรอดพ้นเหตุการณ์ร้ายมาได้ในฐานะนักสู้ ไม่ใช่ในฐานะเหยื่อ

ส่วนคุณ Anshu Rajput อายุ 18 ปี ทำงานในร้านคาเฟ่สาขาที่เพิ่งเปิดใหม่ในเมืองอุทัยปุระ เธอบอกว่าก่อนหน้านี้เธอพูดไม่ออกเวลามีคนถามคำถาม แต่ตอนนี้เธอมีความมั่นใจมากขึ้น

ส่วน Farah Khan หญิงอีกคนหนึ่งที่ทำงานในค่าเฟ่แห่งนี้กล่าวว่า เธอถูกอดีตสามีฉีดน้ำกรดใส่หน้าเมื่อหกปีที่แล้ว เธอมีความสุขใจทุกครั้งที่ลูกค้าพูดคุยด้วย Khan บอกว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความคิดเห็นของคนอื่นทำให้เธอเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่เคยอยากเล่าเรื่องราวของตนให้ใครฟัง แต่มาตอนนี้ การเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นๆ ฟัง ทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น

Alok Dixit ผู้ก่อตั้ง Stop Acid Attacks กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า ร้าน คาเฟ่ Sheroes Hangout ช่วยให้เหยื่อได้รับการยอมรับจากคนในสังคมมากขึ้น เขากล่าวว่ามีบริษัทเอกชนอย่างน้อย 10 แห่งที่เสนองานแก่หญิงที่ถูกสาดน้ำกรด มีผู้คนมากมายออกมาสนับสนุนกิจการของร้านคาเฟ่ ตั้งแต่คนธรรมดาไปจนถึงคนที่มีชื่อเสียง

และทุกคนล้วนมีบทบาทในการช่วยรณรงค์เพื่อให้เหยื่อของถูกสาดน้ำกรดได้รับการยอมรับจากสังคม มีงานทำและดำเนินชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป

(รายงานโดย Anjana Pasricha / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG