ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เครื่องมือหินหลายชิ้นที่ขุดพบในจีน เเสดงว่ามนุษย์โบราณเดินทางออกจากทวีปแอฟริกาเร็วกว่าที่เราเข้าใจกัน
มาจนถึงขณะนี้ หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่ชี้ว่ามีมนุษย์ยุคเริ่มต้นอยู่นอกทวีปแอฟริกา คือ โบราณวัตถุ เเละกระโหลกอายุ 1 ล้าน 8 แสนปีที่พบในประเทศจอร์เจีย เเต่หลักฐานชิ้นใหม่ที่พบในจีนชี้ว่า สิ่งมีชีวิตที่เหมือนมนุษย์ออกมาจากแอฟริกาก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 250,000 ปี
ไมเคิล เพทราเกลีย (Michael Petraglia) นักโบราณคดีเเห่งสถาบันแมค พลังค์ด้านประวัติของมนุษย์ (Max Planck Institute for the Science of Human History) ในเยอรมนี กล่าวว่านี่เป็นข้อมูลใหม่ที่ชี้ว่ามนุษย์โบราณได้เดินทางออกจากแอฟริกาก่อนหน้าที่คิดเอาไว้อย่างมาก
การเดินทางออกจากทวีปแอฟริกาที่ว่านี้เกิดขึ้นนานก่อนหน้าที่มนุษย์ยุคปัจจุบันจะกำเนิดขึ้น ทีมนักวิจัยเชื่อว่าเครื่องมือหินที่ขุดพบในจีนทำขึ้นโดยมนุษย์โบราณที่อยู่ระหว่างการวิวัฒนาการอีกกลุ่มหนึ่ง
เครื่องมือหินเหล่านี้รวมทั้งก้อนหินที่ปลายบิ่นหลายชิ้น เศษชิ้นส่วนของฆ้อนที่ทำจากหิน โบราณวัตถุทั้ง 96 ชิ้นนี้ขุดพบในพื้นที่ราบสูงดินเหลือง (Loess Plateau) ทางเหนือของภูเขาฉินหลิงที่เเบ่งจีนออกเป็นส่วนเหนือกับส่วนใต้
รายงานเกี่ยวกับการศึกษาชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า วัตถุโบราณบางชิ้นมีอายุเก่าแก่ถึง 2 ล้าน 1 เเสนปี
เจายู่ จู (Zhaoyu Zhu) ศาสตราจารย์ที่สถาบันธรณีเคมีกวางเจา (Guangzhou Institute of Geochemistry) ที่เป็นหัวหน้าการศึกษาภาคสนาม กล่าวว่าทีมงานตื่นเต้นมาก เขาเล่าว่าในขณะขุดค้น สมาชิกคนหนึ่งในทีมงานมองเห็นก้อนหินก้อนหนึ่งผังอยู่ในชั้นหิน เเละสักครู่หลังจากนั้น ทีมงานได้ทยอยขุดพบวัตถุโบราณมากชิ้นขึ้น
เครื่องมือโบราณที่ทำจากหินเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้ดินเป็นชั้นๆ เเสดงว่ามนุษย์โบราณที่ยังระบุกลุ่มไม่ได้นี้ได้กลับมายังจุดเดิมนี้ครั้งเเล้วครั้งเล่าและเป็นไปได้ว่าเป็นการตามรอยสัตว์ที่ล่า ทีมนักวิจัยยังพบกระดูกของหมูเเละกวางในบริเวณเดียวกันอีกด้วย เเต่หาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ว่าเครื่องมือหินที่พบถูกใช้ในการล่าสัตว์
ผู้เชี่ยวชาญบางคนที่ไม่มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้มองว่า ยังไม่สามารถเชื่อถือในความถูกต้องของผลการศึกษานี้ได้ทั้งหมด
เจฟฟรี โพบ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิลเลียม เเพทเทอสัน ในนิวเจอร์ซี่ สหรัฐฯ กล่าวว่า ตนเองยังคลางแคลงใจในผลการศึกษานี้ เพราะบางครั้งธรรมชาติอาจทำให้หินเปลี่ยนรูปทรงไปจนเหมือนกับว่าถูกประดิษฐ์ขึ้นด้วยมือคน เขากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าก้อนหินที่กระเเทกกันในลำน้ำอาจจะทำให้หินมีขอบที่คมขึ้น
เเต่ซอนญ่า ฮาร์มาน นักโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยสโตนนี่ บรูค ในนิวยอร์ค ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเครื่องมือหินโบราณ ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของโพบ เธอกล่าวว่า นี่อาจจะเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดทางมานุษยวิทยาแห่งหนึ่งในโลกก็ได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)