ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ยิ่งร้อนยิ่งไฟแรง! กับสีย้อมผ้าชนิดใหม่ แปลงความร้อนในร่างกายเป็นไฟฟ้า


ยิ่งร้อนยิ่งไฟแรง! กับสีย้อมผ้าชนิดใหม่ แปลงความร้อนในร่างกายเป็นไฟฟ้า

please wait

No media source currently available

0:00 0:02:51 0:00

ปัจจุบัน คนทั่วไปมักสวมอุปกรณ์ติดเซ็นเซอร์ที่เรียกกันว่า Wearable Technology กันมากขึ้น ทั้งเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการออกกำลังกาย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยในสหรัฐฯ จึงพยายามพัฒนาวิธีแปลงความร้อนจากร่างกายของคนเราให้กลายเป็นพลังงานป้อนให้กับอุปกรณ์สมัยใหม่ดังกล่าว

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า คนทั่วไปกับหลอดไฟมีอะไรเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ มีความร้อนราว 80 วัตต์ อยู่ภายในเหมือนกัน และนั่นนำไปสู่แนวคิดเรื่องการแปลงความร้อนในร่างกายของเราให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง

อาจารย์ เจมี กลันแลน แห่งภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Texas A&M และคณะ กำลังพยายามหาทางพัฒนาวิธีแปลงความร้อนจากร่างกายของคนเราให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยการสร้างวัสดุนำไฟฟ้าที่คล้ายหมึกขึ้นมาแบบ thermo-electric ที่สามารถทาลงบนเสื้อผ้าต่างๆ ได้ และติดแน่นทนนานบนเนื้อผ้า

อาจารย์ เจมี กลันแลน กล่าวว่า แนวคิดนี้คือการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนในร่างกายเราเอง เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ผู้ช่วยในการออกกำลังกายที่เรามักสวมใส่กันในยุคปัจจุบัน หรืออาจใช้ชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์สื่อสารโดยที่ไม่ต้องพกแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เทอะทะไปด้วย

นักวิจัยระบุว่า เมื่อร่างกายของเราผลิตความร้อนออกมา อุณหภูมิรอบๆ ร่างกายจะต่ำลง ซึ่งความแตกต่างของอุณหภูมิดังกล่าวสามารถทำให้เกิดไฟฟ้าขึ้นได้ กุญแจสำคัญคือการใช้เนื้อผ้าที่เคลือบสีนำไฟฟ้าแบบพิเศษที่สามารถแปลงความร้อนให้เป็นกระแสไฟฟ้า โดยผ้านั้นต้องอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดความร้อนให้มากที่สุด

อาจารย์ เจมี กลันแลน ชี้ว่า เป้าหมายของนักวิจัยกลุ่มนี้ คือการสร้างอุปกรณ์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 10% จากความร้อนในร่างกายของมนุษย์ กล่าวคือ หากคนคนหนึ่งมีความร้อนในร่างกายราว 80 วัตต์ สิ่งที่ตนต้องการเห็นคือกระแสไฟฟ้าราว 8 วัตต์ที่ได้จากคนคนนั้น

คุณกลันแลน บอกด้วยว่า ยิ่งคุณปล่อยความร้อนออกมาจากร่างกายได้มากเท่าไร ก็ยิ่งสามารถผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Texas A&M ชุดนี้ ยังระบุด้วยว่า คำถามของเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไรมากกว่า ซึ่งอาจเป็น 1 ปี หรือ 5 ปีก็ได้

(ผู้สื่อข่าว Elizabeth Lee รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG