ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แพทย์แนะนำวิธีป้องกันและจัดการ 'อาการร้อนวูบวาบ' จากการบำบัดด้วยฮอร์โมนในผู้ป่วยมะเร็ง



Hot Flash หรืออาการร้อนวูบวาบ ที่มักเกิดขึ้นกับร่างกายส่วนบนและกระจายออกไป ทำให้มีเหงื่อออกและสร้างความกังวลใจได้นี้ อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมน

โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เกิดขึ้นทุกวัน หรือวันละหลายครั้ง โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับได้

นายแพทย์ Arjun Gupta จากศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ในนครดัลลัส ผู้จัดทำข้อแนะนำนี้ บอกว่า อาการร้อนวูบวาบที่ว่านี้เป็นเรื่องที่สามารถควบคุมหรือจัดการได้โดยง่าย

โดยปกติแล้วเซลล์มะเร็งบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งทรวงอก หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก อาศัยฮอร์โมนเพศในร่างกายเพื่อการเติบโต

สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง การบำบัดด้วยฮอร์โมนมักมีขึ้นเพื่อลดระดับฮอร์โมนลง ซึ่งเมื่อระดับฮอร์โมนลดลง อาการร้อนวูบวาบหรือ Hot Flash นี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ตามมา และอาการที่ว่านี้ก็อาจสืบเนื่องมาจากโรคมะเร็งโดยตรง จากการติดเชื้อ จากการบำบัดด้วยฮอร์โมน หรือจากการใช้ยาอื่นๆ เช่นยาประเภทสเตอรอยด์ เป็นต้น

นายแพทย์ Gupta บอกว่า การจัดการกับอาการร้อนวูบวาบนี้มีทั้งการป้องกันและการบำบัด โดยวิธีป้องกันด่านแรก คือให้บันทึกช่วงเวลาที่เป็น ความยาว และความรุนแรงของอาการนี้ไว้ ซึ่งอาจจะช่วยให้คำตอบเกี่ยวกับสาเหตุหรือตัวกระตุ้นได้

เพราะปัจจัยภายนอกบางอย่าง เช่น การอาบน้ำร้อนหรือการกินอาหารรสจัด อาจกระตุ้นอาการ Hot Flash ที่ว่านี้ได้

คุณหมอ Arjun Gupta แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ออกคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งซึ่งรับการบำบัดด้วยฮอร์โมน ให้คำแนะนำด้วยว่า สิ่งที่ควรเลี่ยง คือไม่ควรบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์มากเกินไป และควรงดสูบบุหรี่ด้วย

ส่วนสิ่งที่ควรทำ คือการสร้างอุณหภูมิแวดล้อมให้เย็นสบาย โดยเฉพาะเวลานอน สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยฝ้ายแบบสบายๆ ไม่ควรอาบน้ำร้อน รวมทั้งใช้เทคนิคผ่อนคลายบางอย่าง เช่น เล่นโยคะ ทำสมาธิ และฝึกหายใจ ก็จะช่วยได้เช่นกัน


XS
SM
MD
LG