ลิ้งค์เชื่อมต่อ

งานวิจัยชี้ชัด อยากมีสุขภาพดี-อายุยืนยาว ต้องเดินวันละกี่ก้าว?


woman walking
woman walking

การศึกษาชี้ว่า ผู้หญิงสูงวัยที่เดินวันละประมาณ 6 กิโลเมตรอาจมีชีวิตยืนยาวกว่าคนในวัยเดียวกันที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายเลย

นักวิจัยในสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากต่างมุ่งหวังจะมีสุขภาพที่ดี โดยตั้งเป้าหมายการเดินประจำวันไว้ที่วันละ 10,000 ก้าว หรือราว 8 กิโลเมตร ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ตั้งเป้าหมายนี้ คือกลุ่มคนที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ในการตั้งเป้าหมายการเดิน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความเข้มข้นของการเดินหรือความเร็วในการเดิน มีความสำคัญต่อการนับประโยชน์ของทุกย่างก้าวหรือไม่ และการเดิน 10,000 ก้าวก็อาจไม่ใช้เป้าหมายที่ถูกต้องสำหรับทุกๆ คนเสมอไป

ในการศึกษาวิจัยนี้ นักวิจัยได้ติดตามดูผู้หญิง 17,000 คนที่อยู่ในช่วงอายุ 70 ต้นๆ โดยการให้สวมใส่อุปกรณ์วัดความเร็วเป็นเวลาอย่างน้อย 4 วัน อุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดเล็ก ใช้ในการวัดจำนวนย่างก้าว ตลอดจนความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวด้วย

หลังจากนั้นประมาณ 4 ปี 3 เดือน นักวิจัยได้ติดตามผลของการศึกษาจากผู้หญิงกลุ่มนั้น พบว่าในช่วงระยะเวลาที่ทำการศึกษาวิจัย มีกลุ่มตัวอย่างเสียชีวิต 504 คน และเมื่อพิจารณษลึกลงไป พบว่าผู้หญิงที่เดินเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 4,363 ก้าว มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้หญิงที่เดินวันละไม่เกิน 2,718 ก้าว ราว 41%

คุณ I-Min Lee หัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย Harvard และโรงพยาบาล Brigham and Women's ในนครบอสตัน แมสซาชูเส็ทท์ กล่าวว่า การเดินเป็นประจำแม้เพียงแต่ในระดับพอประมาณ ก็ช่วยให้อัตราการเสียชีวิตต่ำลงได้

การศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่เดินวันละหลายพันก้าวไปจนถึงวันละ 7,500 ก้าว นั้น มีอัตราการเสียชีวิตต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่พบความแตกต่างมากนักสำหรับผู้หญิงที่เดินมากกว่า 7,500 ก้าวต่อวัน และยังพบด้วยว่า ความเข้มข้นของการเดินของกลุ่มสตรีสูงวัยนี้ ไม่สำคัญเท่ากับจำนวนก้าวที่เดิน ในการที่จะช่วยให้มีอายุยืนยาว

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้มีข้อจำกัดเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น นักวิจัยวัดการเคลื่อนไหวของผู้หญิงเพียงครั้งเดียวในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมของผู้หญิงกลุ่มตัวอย่างอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

Keith Diaz นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิยาลัย Columbia ในนครนิวยอร์ค ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ กล่าวว่า ผลการศึกษานี้เป็นข่าวดีสำหรับคนสูงวัยที่มีปัญหาในการเดินเร็ว และว่าการเดินไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตามยังดีกว่าไม่เดินเลย เพราะผลการวิจัยพบว่า แม้ว่าจะเดินเพียงเล็กน้อยก็ช่วยให้อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างรวดเร็ว

Keith กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการเดิน การศึกษาฉบับอื่นๆ ชี้ว่ากิจกรรมแอโรบิคทุกรูปแบบ เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หมุนแขน เมื่อทำอย่างต่อเนื่องก็ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยเช่นเดียวกัน

รายงานการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine

XS
SM
MD
LG