ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ภาวะระบาดใหญ่โควิด-สงครามยูเครน และทิศทางที่เปลี่ยนไปของโลกาภิวัฒน์


FILE PHOTO: Employees work on a production line manufacturing camera lenses for cellphones at a factory in Lianyungang, Jiangsu province, China April 30, 2019.
FILE PHOTO: Employees work on a production line manufacturing camera lenses for cellphones at a factory in Lianyungang, Jiangsu province, China April 30, 2019.

ภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่เริ่มต้นมาเมื่อต้นปี ค.ศ.2020 และสงครามในยูเครนที่รัสเซียเปิดฉากขึ้นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว คือ ปัจจัยที่มีอิทธิพลรุนแรงต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ในเวลานี้

การระบาดใหญ่เป็นวงกว้างของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นนำมาซึ่งคำถามหลายคำถามเกี่ยวกับ การที่โลกของเราพึ่งพาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มุ่งลดการกีดกันทางการค้าและผลักดันให้ประเทศต่างๆ หันมาพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในด้านการผลิต ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาว่า เป็นทางเลือกที่ดีจริงหรือไม่ เพราะการที่บริษัทจำนวนมากต้องประสบปัญหาไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้เหมือนปกติ เนื่องจากการติดขัดของห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่า สิ่งที่ทั่วโลกพยายามดำเนินนโยบายด้วยความร่วมมือกัน อาจไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด

Justice Department Supply Chain Struggles
Justice Department Supply Chain Struggles

ขณะเดียวกัน วิกฤตในยูเครนที่เกิดขึ้นหลังรัฐบาลรัสเซียส่งกองทัพรุกรานประเทศเพื่อนบ้านรายนี้ก็ทำให้เกิดความกลัวว่า การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ว่านี้จะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงาน ชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้ง การส่งออกข้าวสาลีและวัตถุดิบทั้งหลายที่โดนผลกระทบจากสงครามครั้งนี้

แลร์รี ฟิงค์ ซีอีโอ ของ แบล็คร็อค (BlackRock) บริษัทจัดการการลงทุนชั้นนำสัญชาติอเมริกัน ให้ความเห็นว่า การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียนั้น ทำให้กระแสโลกาภิวัฒน์มาที่คนทั่วโลกคุ้นเคยมาเป็นเวลา 3 ทศวรรษถึงจุดสิ้นสุดลงแล้ว

ฟิงค์ ระบุในจดหมายที่ส่งถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ว่า “เราได้เห็นว่า การเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่างๆ บริษัทต่างๆ รวมทั้ง แม้แต่ผู้คนทั้งหลาย กลับต้องมาหยุดชะงักตลอดช่วง 2 ปี เพราะการระบาดใหญ่ครั้งนี้”

FILES-US-UKRAINE-CONFLICT-ECONOMY
FILES-US-UKRAINE-CONFLICT-ECONOMY

อย่างไรก็ดี แจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่านี้ และระบุระหว่างการสัมภาษณ์กับสถานีข่าว CNBC ว่า ภายใต้เงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจโลกนี้ ตนคาดว่า ทุกอย่างน่าจะคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง และสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศต่างๆ จะได้ประโยชน์ทั้งหลายต่อไปดังเช่นที่เคยเป็นมา

เช่นเดียวกับ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

การขาดแคลนหน้ากากอนามัยตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน เพราะการระบาดเป็นวงกว้างของโควิด-19 คือ สัญลักษณ์ของความจริงว่า โลกทำการพึ่งพาโรงงานจีนเพื่อผลิตสินค้าแทบทุกประเภทอยู่จริง

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ จนได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำชั้นนำของโลก

นอกจากนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นยังทำให้หลายคนกลับไปมองดูยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี และพบว่า ภูมิภาคนี้มีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียอย่างหนัก

ทั้งนี้ ความตึงเครียดในสถานการณ์การค้าโลกยังส่งผลให้หลายฝ่ายตัดสินใจดำเนินแผนงานต่างๆ เพื่อช่วยตัวเองโดยด่วน อย่างเช่น สหภาพยุโรป (อียู) ที่เร่งเสริมสร้าง “อิสรภาพทางยุทธศาสตร์” (strategic autonomy) ให้กับอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของตน เป็นต้น

ในเวลานี้ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ต่างยกให้ภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมหลายประเภท ตั้งแต่ เกมวิดีโอ ไปจนถึงรถยนต์ เป็นส่วนงานที่มีความสำคัญระดับต้นๆ ของตนไปแล้ว

เฟอร์ดิ เดอ วิลล์ ศาสตราจารย์จาก Ghent Institute for International & European Studies กล่าวว่า ขณะที่ ภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไม่ได้เป็นเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงในภาคธุรกิจ ในแง่ของการดึงกิจการที่ไปตั้งฐานที่ประเทศอื่นกลับมายังบ้านเกิด สงครามในยูเครน คือ เหตุผลที่ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องหันกลับมาทบทวนดูผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นต่อปัจจัยการทำธุรกิจของตนอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ หรือ ห่วงโซ่อุปทานของตน ก็ตาม

ศาสตราจารย์ เดอ วิลล์ กล่าวด้วยว่า หลายฝ่ายเพิ่งตระหนักว่า สิ่งที่ทุกคนลืมคิดมาก่อน กำลังกลายมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาตนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็คือ การสิ้นสุดของกระแสโลกาภิวัฒน์ อันสืบเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจมากมายต่อรัสเซีย

และเป้าหมายที่หลายประเทศกำลังเร่งบรรลุภายใต้เงื่อนไขปัจจุบันของโลกก็คือ การปรับเปลี่ยนการพึ่งพาทางยุทธศาสตร์ของตนให้ไปอยู่กับพันธมิตร แทนที่จะเป็นประเทศที่อาจมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น ดังตัวอย่างของ ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และอียูที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในการสร้างคณะทำงานขึ้นมาเพื่อช่วยยุโรปให้ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากรัสเซีย

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ปาสกาล ลามี อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) มองว่า ไม่ใช่เป็นการวกกลับของกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนตนเอง ที่คล้ายๆ กับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต มากกว่า

การถอยห่างออกจากจีน

อันที่จริง กระแสโลกาภิวัฒน์เริ่มตกอยู่ในสภาพใกล้ถึงจุดจบมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐฯ อยู่แล้ว หลังกรุงวอชิงตันตัดสินใจเริ่มทำสงครามการค้ากับจีนเมื่อปี ค.ศ. 2018 ที่ต่างฝ่ายต่างงัดเอามาตรการเรียกเก็บภาษีมากมายออกมาดำเนินการใส่กันและกัน

และเมื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก้าวขึ้นรับตำแหน่งผู้นำประเทศต่อ ก็มีการชูประเด็นส่งเสริมสินค้าอเมริกัน “Buy American” ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อ “ฟื้นฟูอเมริกา” ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งมีการนำมาตอกย้ำอีกครั้งในระหว่างการแถลงผลงานครบรอบการทำงาน 1 ปี เมื่อเร็วนี้ด้วย

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงการดำเนินตามแนวคิด “ถอยห่างออกจากจีน” ที่ต้องยอมรับว่าถือกำเนิดขึ้นมาในยุคของอดีตปธน.ทรัมป์ จริงๆ

แต่การถอยห่างที่ว่านี้อาจเข้าทางของจีนที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกในอนาคตได้

เสี่ยวตง เป่า ผู้จัดการกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน จาก Edmond de Rothschild Asset Management มองว่า ในเวลานี้ สงครามในยูเครนได้กลายมาเป็นโอกาสให้กรุงปักกิ่งได้ลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว อย่างเช่นที่ หนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า รัฐบาลจีนเพิ่งเจรจากับซาอุดิอาระเบียว่า จะขอชำระเงินค่าน้ำมันเป็นเงินสกุลหยวนแทนแล้ว

เป่า กล่าวว่า “จีนจะเดินหน้าสร้างรากฐานสำหรับอนาคต (ให้กับตน) ต่อไป” และว่า “กระบวนการถอยห่างในธุรกิจการเงินนั้นก็กำลังมีการเร่งเครื่องขึ้นอยู่ด้วยเช่นกัน”

XS
SM
MD
LG