ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เงินบริจาคเหยื่อสงครามชาวยูเครนหดตัว สวนทางสถานการณ์การต่อสู้ที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง


Already dazed refugees emerge from Ukraine into a winding path of tents and small marquees and they run a gauntlet of charity and hospitality, which at first adds to their disorientation, but as they relax it prompts smiles. (Jamie Dettmer/VOA)
Already dazed refugees emerge from Ukraine into a winding path of tents and small marquees and they run a gauntlet of charity and hospitality, which at first adds to their disorientation, but as they relax it prompts smiles. (Jamie Dettmer/VOA)

กระแสการบริจาคเงินและสิ่งของในสหรัฐฯ ให้แก่เหยื่อสงครามชาวยูเครนกำลังอยู่ในภาวะซบเซาลง แม้ผู้ประสบภัยจากสงครามรัสเซียและยูเครนจะต้องการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นทุกขณะ

เพราะเหตุนี้ วาดิสลาฟ สปาคอฟ อาสาสมัครที่อพยพจากกรุงเคียฟของยูเครนมายังสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2016 และดำรงตำแหน่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเคลื่อนย้ายสิ่งของ จึงยอมเสียค่าใช้จ่ายราว 400 ดอลลาร์ต่อเที่ยวรถบรรทุกเพื่อที่จะส่งของบริจาคจากรัฐเวอร์จิเนียไปยังรัฐเดลาแวร์ โดยของเหล่านี้จะถูกส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ประเทศยูเครนซึ่งเป็นบ้านเกิดของวาดิสลาฟในที่สุด

วาดิสลาฟบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า เขาต้องควักเงินออกมารองรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย ทั้งค่าน้ำมันและค่าคนงาน แต่ด้วยความที่เขาเป็นชาวยูเครน เขาจึงต้องทำทุกวิถีทางที่ส่งความช่วยเหลือไปให้สำเร็จ

คำว่าความช่วยเหลือนั้น หมายถึง การที่มีผู้ยินดียื่นมือมาร่วมช่วยทั้งในรูปของแรงงาน เงิน และการบริจาครูปแบบอื่นๆ เพื่อที่จะช่วยเหยื่อสงครามในยูเครนให้ได้ แต่ขณะที่ การโจมตีของรัสเซียในยูเครนเดินหน้าทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความสนใจของผู้บริจาคในสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกลับค่อยๆ ลดน้อยลง จนมูลนิธิหลายๆ แห่งต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

มาริญ่า โซโรกา ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Razom for Ukraine กล่าวว่า “สหรัฐฯ มีโกดังเก็บของหลายแห่งทั่วประเทศ และตอนนี้ คนก็เริ่มตระหนักแล้วว่า ควรจะเน้นการรับบริจาคของประเภทใดบ้างและในจำนวนมากเท่าใด โดยทางเราเองได้หันไปโฟกัสที่ยารักษาโรคเป็นหลัก”

รายงานข่าวระบุว่า ในกรณีที่สิ่งของที่รับบริจาคมามีราคาต่ำกว่าค่าส่ง มูลนิธิบางแห่งมักเลือกที่จะตัดสินใจไม่ส่งของเหล่านั้นไปยังประเทศยูเครน

President Joe Biden talks with José Andrés, Chair Emeritus, Think Food Group, during a visit to PGE Narodowy Stadium, Saturday, March 26, 2022, in Warsaw. (AP Photo/Evan Vucci)
President Joe Biden talks with José Andrés, Chair Emeritus, Think Food Group, during a visit to PGE Narodowy Stadium, Saturday, March 26, 2022, in Warsaw. (AP Photo/Evan Vucci)

ทางด้าน เชฟ โฮเซ อันเดรส ผู้ก่อตั้ง World Central Kitchen ในสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอจากกรุงเคียฟ ระหว่างที่เขากำลังช่วยประสานให้ร้านอาหารต่างๆ ในยูเครนทำงานร่วมกันและนำของที่บริจาคมาทำเป็นอาหารให้แก่ผู้ประสบภัยในชุมชน

เชฟ อันเดรส อธิบายว่า “ถ้าเรานำเข้าอาหาร(จากต่างประเทศ)หมด เราจะทำให้เกษตรกรต้องเผชิญความยากจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น แนวคิดของเราก็คือ การซื้อและใช้สินค้าท้องถิ่นเป็นหลัก”

สำหรับเม็ดเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น สหภาพยุโรปประกาศว่า ได้เตรียมงบไว้ประมาณ 143 ล้านยูโร ขณะที่ รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ระบุในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มอีก 1 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี มีความเห็นจากบางฝ่ายที่ชี้ว่า เงินนั้นไม่ใช่ความช่วยเหลือที่ดีที่สุดสำหรับเหยื่อสงครามยูเครน และควรมีดำเนินการด้านอื่นเพื่อช่วยเพื่อผู้ประสบภัยด้วย

อิกอร์ มาคอฟ ผู้บริหารองค์การไม่แสวงหาผลกำไร Nova Ukraine แสดงความคิดเห็นว่า “วิธีการใช้เงินบริจาคนั้นมีหลากหลาย ถ้าพยายามที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เงินที่เหลือมาถึงผู้ประสบภัยจะมีไม่มาก ผมคิดว่า ในระดับรัฐบาลนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำ คือ การบริจาคอาหารและยารักษาโรคในปริมาณมากๆ จะดีกว่า”

ในส่วนของการบริจาคจากประชาชนแบบรายบุคคลนั้น ซานดรินา ดา ครูซ หัวหน้าหน่วยงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยขององค์กร GlobalGiving ระบุว่า การบริจาคในกลุ่มนี้ลดน้อยลงอย่างชัดเจน

FILE - Internally displaced people look out from a bus at a refugee center in Zaporizhia, Ukraine, on March 25, 2022.
FILE - Internally displaced people look out from a bus at a refugee center in Zaporizhia, Ukraine, on March 25, 2022.

ดา ครูซ บอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้น (ในยูเครน) นับเป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยที่ขยายตัวเร็วที่สุด และเวลานี้ มีคำถามเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับอนาคตขององค์กรให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเราในระยะยาวว่าจะเป็นอย่างไรด้วย”

อย่างไรก็ตาม บอริส เลอวอนเน็นโก ช่างซ่อมรถยนต์ที่เกิดในเมืองคาร์คีฟของยูเครนยังคงยึดถือทัศนคติในแง่บวกที่ว่า การช่วยเหลือผู้คนนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่น

เลอวอนเน็นโก บอกว่า เขารู้สึกดีที่ได้ช่วยรวบรวมยารักษาโรคให้แก่คนที่ประเทศบ้านเกิดของตนเอง แม้การนำเวลามาทำกิจกรรมนี้จะทำให้เขาจะต้องเสียรายได้จากลูกค้าที่อู่ซ่อมรถก็ตาม

เขากล่าวว่า “ปกติผมต้องอยู่ที่อู่ตลอดและคอยดูแลธุรกิจ แต่ผมทำเช่นนั้นต่อไม่ได้แล้ว เพราะผมรู้ดีว่าเงินนั้นมันสามารถหาได้ทีหลัง โดยเฉพาะหลังจากเราชนะสงครามแล้ว”

XS
SM
MD
LG