ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'พลาสติกชนิดใหม่' ผลิตสารฆ่าเชื้อโรคได้เมื่อเจอแสงแดด


Ultraviolet light reveals different "species" of quantum dots that have been programmed to attack specific microbes.
Ultraviolet light reveals different "species" of quantum dots that have been programmed to attack specific microbes.

บรรดาเจ้าหน้าที่ทางการเเพทย์ที่ต้องเข้าไปรักษาคนไข้อีโบล่าในเขตระบาดของโรคเมื่อหลายปีที่แล้ว ต้องสวมชุดป้องกันการติดเชื้อ เเต่ในระหว่างการใช้งานภาคสนาม ชุดที่สวมเพื่อป้องกันเชื้อโรคก็มีการปนเปื้อนเเละเป็นอันตรายต่อผู้สวมเช่นกัน

ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ กำลังพัฒนาแผ่นพลาสติกที่ผลิตสารไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค ออกมาในปริมาณเล็กน้อยเมื่อได้รับเเสงเเดด เเละทีมนักวิจัยชี้ว่า แผ่นผลิตสารฆ่าเชื้อโรคนี้อาจนำไปใช้ในรูปของบรรจุภัณฑ์อาหารได้ด้วย เพื่อช่วยลดปัญหาโรคติดต่อผ่านทางอาหาร

กัง ซัน (Gang Sun) นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส เเละเพื่อนร่วมงาน ได้พัฒนาแผ่นพลาสติกที่สามารถผลิตสารฆ่าเชื้อโรคไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ออกมาเมื่อเจอกับเเสงเเดด

เขากล่าวว่า หากมีเชื้อเเบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่บนผิวหน้าวัสดุหรือพื้นผิวต่างๆ เชื้อโรคก็จะสามารถแพร่กระจายต่อไปได้เเละทำให้คนติดเชื้อ แต่แผ่นพลาสติกนี้จะผลิตสารฆ่าเชื้อโรคออกมาทุกครั้งที่เจอกับเเสงแดด เเม้จะมีปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น โดยอาจจะน้อยกว่าปริมาณสารที่เราใช้กำจัดรอยเปื้อนบนเสื้อผ้าที่ซัก เเต่ก็เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้

โรฮัน ทิกเคกเกอร์ (Rohan Tikekar) แห่งมหาวิทยาลัยเเมรี่แลนด์ (University of Maryland) กล่าวว่า มีนักวิจัยหลายคนที่ได้คิดค้นวัสดุต่างๆ ที่สามารถผลิตสารฆ่าเชื้อโรคได้ในตัวเอง แต่ต้องใช้แสงอุลตร้าไวโอเลตในปริมาณสูงจึงจะผลิตสารเคมีได้

ทิกเคกเกอร์ กล่าวว่า ความเด่นเฉพาะตัวของพลาสติกชนิดใหม่นี้ คือไม่จำเป็นต้องใช้เเสงยูวีในปริมาณสูง เเต่ใช้เเสงแดดเท่านั้น เเละคุณสมบัติทางเคมีในพลาสติกนี้ยังช่วยให้สามารถเก็บกักพลังงานจากความร้อนเอาไว้ในตัวได้ด้วย เพื่อช่วยให้พลาสติกผลิตสารฆ่าเชื้อโรคออกมาได้ในตอนกลางคืน เทียบได้เหมือนการทำงานของเเบตเตอรี่

กัง ซัน กล่าวว่า แบตเตอรี่ที่ว่านี้ไม่ผลิตกระเเสไฟฟ้า แต่จะปล่อยพลังงานความร้อนที่เก็บกักเอาไว้เพื่อช่วยให้แผ่นพลาสติกผลิตสารฆ่าเชื้อโรคไฺฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ออกมาสู่ด้านบนของผิวหน้าของวัสดุ

หากพลาสติกชนิดใหม่นี้ผลิตออกมาวางตลาดผู้บริโภคสำเร็จ นอกจากจะช่วยป้องกันเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อโรคเเล้ว ยังอาจใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผักผลไม้สดเพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้นเเละปลอดเชื้อโรค

ซัน กล่าวว่า หากใช้แผ่นพลาสติกเเบบใหม่นี้เพิ่มเข้าไปในบรรจุภัณฑ์อาหารอีกชั้นหนึ่ง ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อเเบคทีเรียเข้าไปปนเปื้อนในอาหารได้ และในขั้นต่อไป อาจจะพัฒนาให้พลาสติกฆ่าเชื้อโรคนี้รับประทานได้ เพราะวัสดุที่ใช้มีสารส่วนประกอบที่ได้จากธรรมชาติอยู่เเล้ว

ผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ไปเมื่อเร็วๆนี้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG