ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กลุ่มจี7 เล็งเพิ่มแรงกดดันมาตรการด้านการเงินต่อรัสเซีย


Japan G7 Summit
Japan G7 Summit

สมาชิกกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 7 ประเทศ หรือ จี7 เตรียมหารือยกระดับการดำเนินมาตรการต่อรัสเซียให้หนักขึ้น รวมทั้งการปราบปรามความพยายามที่จะหลบหลีกมาตรการเหล่านี้ เพื่อหวังลดกำลังความสามารถของกรุงมอสโกในการระดมทุนมาสนับสนุนการทำสงครามในยูเครนของตน

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวแจ้งต่อผู้สื่อข่าวว่า ผู้นำกลุ่มจี7 จะประกาศมาตรการลงโทษและควบคุมการส่งออกอีกหลายร้อยรายการเพิ่มในระหว่างการประชุมสุดยอดที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นในวันศุกร์และมีกำหนดปิดม่านในวันอาทิตย์

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุว่า มาตรการจากสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวก็จะส่งผลให้มีการขึ้นชื่อองค์กรสัญชาติรัสเซียและประเทศที่ 3 อื่น ๆ ราว 70 แห่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธทางทหารของมอสโกไว้ในบัญชีดำ นอกเหนือจากการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อบุคคล องค์กร เครื่องบินและเรือกว่า 300 ราย/แห่ง/ลำ โดยรัฐบาลสมาชิกกลุ่มจี7 อื่น ๆ น่าจะประกาศมาตรการส่วนของตนออกมาในสัปดาห์นี้

ในส่วนของภาพรวมการยกระดับกดดันรัสเซียนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จะมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน อันได้แก่ การสกัดกั้นความสามารถของรัสเซียในการจัดหาอุปกรณ์และเสบียงคลังเพิ่มมาช่วยทำสงคราม การทำงานร่วมกันเพื่อปิดช่องโหว่ของมาตรการลงโทษและการหลบหลีกการบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ และการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของประเทศในยุโรป

นอกจากนั้น กลุ่มจี7 จะพยายามจำกัดความสามารถของรัสเซียในการเข้าถึงระบบการเงินระหว่างประเทศ และเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการอายัดทรัพย์สินแห่งชาติของรัสเซียด้วย

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ระบุว่า “สิ่งสำคัญก็คือ เราจะยกระดับแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย” นั่นเอง

จี7 ยังไม่มีแผนสั่งห้ามการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันกับ วีโอเอ ในระหว่างการเดินทางด้วยเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน จากสหรัฐฯ ไปญี่ปุ่นว่า กลุ่มจี7 จะยังไม่ประกาศแผนการห้ามการส่งออกไปยังรัสเซียแบบเบ็ดเสร็จ โดยระบุว่า “จุดสำคัญหลักของการดำเนินมาตรการลงโทษในการประชุมสุดยอดผู้นำนั้นจะอยู่ที่การบังคับใช้และ[ประเด็น]การหลบเลี่ยง”

ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มจี7 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ยังคงส่งออกสินค้ามูลค่าราว 4,700 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนไปยังรัสเซีย โดยจำนวนนี้คิดเป็น 43% ของปริมาณการส่งออกก่อนที่มอสโกจะส่งกองทัพบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว ตามข้อมูลการวิจัยจาก Atlantic Council’s GeoEconomics Center

รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มาตรการที่รัฐบาลปธน.ไบเดน ดำเนินการต่อรัสเซียนั้นจะมุ่งไปที่ประเด็นความพยายามหลบเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการลงโทษที่บังคับใช้อยู่ ด้วยการใช้สมาชิกในครอบครัวและคนสนิท หรือไม่ก็เปลี่ยนทรัพย์สินของตนเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือใช้โครงสร้างอันซับซ้อนต่าง ๆ เพื่อหลบซ่อนความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ของตน หรือโยกย้ายสินทรัพย์ไปประเทศที่ไม่อยู่ในเป้ามาตรการลงโทษ

ที่ผ่านมา การดำเนินมาตรการลงโทษรัสเซียนั้นมีผลบังคับใช้ต่อบุคคลและองค์กรสัญชาติรัสเซียกว่า 4,800 คน/แห่งแล้ว โดยรวมถึงตัวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และภรรยา รวมทั้งหัวหน้ากลุ่มแวกเนอร์ องค์กรทหารรับจ้างที่ช่วยรัสเซียทำการรบในยูเครน และโฆษกทำเนียบเครมลินและครอบครัว ด้วย

เซ็ธ บริดจ์ ผู้ประสานงานหน่วยเฉพาะกิจ Russian Elites, Proxies and Oligarchs (REPO) หรือ กลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ กลุ่มตัวแทนผู้รับอำนาจ และกลุ่มอภิสิทธิ์ชนรัสเซีย ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ในช่วงกว่า 14 เดือนที่ผ่านมา ทางหน่วยฯ ทำการปิดกั้นหรืออายัดทรัพย์สินของกลุ่มคนดังกล่าวที่อยู่ในรายชื่อเป้าหมายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจไว้ได้ถึงกว่า 58,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

ส่วน คิมเบอร์ลี โดโนแวน ผู้อำนวยการกลุ่ม Economic Statecraft Initiative ของ Atlantic Council’s GeoEconomics Center บอกกับ วีโอเอ ว่า การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ให้หนักหน่วงขึ้นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นได้ พร้อมกล่าวว่า “ขณะที่ ปีที่แล้วอาจได้ชื่อว่าเป็นปีแห่งมาตรการลงโทษ ดิฉันเชื่อว่า ปีนี้เป็นปีของการบังคับใช้มาตรการลงโทษเหล่านั้น – และการพิจารณาว่า ควรมีการดำเนินนโยบายควบคุมการส่งออกเพิ่มเติมใดบ้างเพื่อไม่ให้รัสเซียมีโอกาสเสริมสร้างสรรพกำลังทางทหารและจัดหาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการทำสงครามของตนต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น มาตรการลงโทษส่วนใหญ่ที่มีการดำเนินการต่อรัสเซียมาจากสหรัฐฯ และไม่ใช่ประเทศกลุ่มจี7 ประเทศอื่น ๆ

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG