ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เรื่องราวชีวิตผู้อพยพจากแฟชั่น 'เสื้อชูชีพผู้ลี้ภัย'


Exhibition of Refugee Fashion
Exhibition of Refugee Fashion

บริษัท เอพิโมเนีย (Epimonía) ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตผู้ลี้ภัยในรัฐมินนิโซตาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2018 มุ่งเน้นการดัดแปลงเสื้อชูชีพที่ผู้ลี้ภัยเคยสวมใส่ให้กลายเป็นเครื่องประดับและเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ

ยกตัวอย่างคอลเลคชั่นล่าสุดของ เอพิโมเนีย ที่เพิ่งนำเสนอออกมาและนำมาจัดแสดงที่หอศิลป์ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อไม่นานมานี้ เป็นการดัดแปลงเสื้อชูชีพที่ถูกสวมใส่โดยผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงชีวิตในการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรป

โมฮัมเหม็ด มาลิม ผู้ก่อตั้งเอพิโมเนีย เกิดที่ค่ายผู้ลี้ภัยดาดาบ (Dadaab)ในเคนยา ซึ่งเป็นที่ ๆ พ่อแม่ของเขาอพยพมาพึ่งพึง เพื่อลี้ภัยความขัดแย้งในโซมาเลียในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 90 ก่อนที่ทั้งครอบครัวจะย้ายมาตั้งรกรากในสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา

โมฮัมเหม็ด มาลิม ผู้ก่อตั้งเอพิโมเนีย
โมฮัมเหม็ด มาลิม ผู้ก่อตั้งเอพิโมเนีย

มาลิม กล่าวว่า “เราเอาเสื้อชูชีพเหล่านั้น มาเปลี่ยนให้เป็นชิ้นงานแฟชั่น จุดประสงค์ของเราคือ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพทั่วโลกและเพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัยด้วยแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" และพร้อมกล่าวเสริมว่า นิทรรศการที่เพิ่งจัดไปนั้นถูกจัดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ผู้ลี้ภัย และเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเหล่าผู้อพยพที่หนีจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขามา

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานแห่งสหประชาชาติ (International Organization for Migration - IOM) ระบุว่า ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นหนึ่งในทางผ่านทางทะเลที่อันตรายที่สุดในโลก นับตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2014 และจนถึงขณะนี้ เส้นทางดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 20,000 คน

ในนิทรรศการที่กล่าวมาข้างต้น มาลิมร่วมมือกับ เอไลอัส ยาบาโรว์ กวีและนักประพันธ์ชาวอเมริกันเชื้อสายโซมาเลีย ซึ่งใช้ชื่อในวงการว่า อาลัคคู (ALAKKUU) โดยยาบาโรว์กล่าวว่า เป้าหมายของงานนั้น คือ การนำผู้คนให้เข้าถึงเรื่องราวส่วนตัวต่าง ๆ ของผู้ลี้ภัยทั้งหลาย

เอไลอัส ยาบาโรว์ กวีและนักประพันธ์ชาวอเมริกันเชื้อสายโซมาเลีย
เอไลอัส ยาบาโรว์ กวีและนักประพันธ์ชาวอเมริกันเชื้อสายโซมาเลีย

ยาบาโรว์ อธิบายด้วยว่า รายงานข่าวเกี่ยวกับการอพยพของผู้ลี้ภัยมักเน้นเรื่องของตัวเลข แต่ผู้คนไม่เคยเข้าใจว่า พวกเขาเป็นใคร อะไรเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาต้องออกจากประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา และการจัดงานนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อให้ประสบการณ์ของคนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปสามารถรู้สึก หรือแม้กระทั่งจับต้องได้จริง ๆ

ท้ายสุด มาลิม บอกว่า ตัวเขาต้องการให้ผลงานแฟชั่นของเขาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของผู้ลี้ภัยที่เคยสวมใส่เสื้อผ้าเหล่านี้มาก่อน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG