ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดับฝันวิถีหมูที่แข็งแรง? การศึกษาชี้ อ้วนแต่ออกกำลังสม่ำเสมอยังไม่ดีพอต่อหัวใจ


People exercise at Inspire South Bay Fitness behind plastic sheets in their workout pods while observing social distancing on June 15, 2020 in Redondo Beach, California, as the gym reopens today under California's coronavirus Phase 3 reopening guidelines.
People exercise at Inspire South Bay Fitness behind plastic sheets in their workout pods while observing social distancing on June 15, 2020 in Redondo Beach, California, as the gym reopens today under California's coronavirus Phase 3 reopening guidelines.
Fat But Fit is a Myth
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:59 0:00

หลายคนอาจเคยเชื่อว่าการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและการรักษาความฟิตของร่างกายจะช่วยทดแทนผลเสียต่อสุขภาพของหัวใจที่เกิดจากความอ้วนและการมีน้ำหนักตัวเกินพอดีได้

แต่ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของนักวิจัยด้านการแพทย์ในสเปนซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพหัวใจ European Journal of Preventive Cardiology โต้แย้งความเชื่อที่ว่านี้ โดยผลการศึกษาชิ้นใหม่จากนักวิจัยของมหาวิทยาลัย European University ที่กรุงมาดริดของสเปน แสดงว่าเรื่องนี้อาจไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะผลเสียต่อสุขภาพจากการมีน้ำหนักตัวเกินพิกัดนั้นไม่อาจถูกลบล้างได้ด้วยการมีไลฟสไตล์ที่แอคทีฟหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างกระฉับกระเฉงเท่านั้น

อาจารย์ Alejandro Lucia ผู้สอนวิชาสรีระวิทยาการออกกำลังกายของมหาวิทยาลัยดังกล่าวซึ่งศึกษาเรื่องนี้ ชี้ว่า เราไม่สามารถจะมีสภาวะที่อ้วนแต่แอคทีฟแล้วมีสุขภาพหัวใจที่ดีไปพร้อมกันได้ นักวิจัยได้ข้อสรุปดังกล่าวจากการศึกษาผู้ใหญ่วัยทำงานในสเปนซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42 ปีกว่า 520,000 คนและแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสามกลุ่มตามระดับ BMI หรือดัชนีมวลกาย

BMI นั้นมาจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยค่า BMI เฉลี่ยระหว่าง 18.5 ถึง 24.9 ถือว่าปกติ ค่า BMI ระหว่าง 25 ถึง 29.9 คือน้ำหนักตัวเกิน และค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปบ่งชี้ถึงการเป็นโรคอ้วน

นักวิจัยได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีมวลกายของกลุ่มตัวอย่างที่จัดว่าปกติ น้ำหนักตัวเกิน และเป็นโรคอ้วนนี้กับลักษณะความกระฉับกระเฉงของไลฟสไตล์และการออกกำลังกาย โดยโยงเข้ากับปัจจัยความเสี่ยงต่อสุขภาพสามอย่าง คือโรคเบาหวาน ระดับโคเลสเตอรอล กับความดันโลหิต ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้หัวใจวายและเกิดอาการสมองขาดโลหิตหล่อเลี้ยงได้

นักวิจัยพบว่าการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใดล้วนแต่ดีต่อสุขภาพทั้งสิ้นแต่ในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนนั้น การออกกำลังกายไม่ว่าจะมากเพียงใดก็ไม่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจแต่อย่างใด

นักวิจัยยังพบข่าวร้ายด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคอ้วนถึงแม้จะแอคทีฟก็ยังมีโอกาสความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวพอดี ๆ ถึงสองเท่าที่จะมีโคเลสเตอรอลสูง มีความเสี่ยงมากกว่าสี่เท่าที่จะเป็นเบาหวาน และเพิ่มโอกาสขึ้นห้าเท่าที่จะมีความดันโลหิตสูงเมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักตัวพอดีแม้จะไม่ค่อยออกกำลังกายก็ตาม

จากข้อมูลที่ได้นี้ นักวิจัยด้านการแพทย์ของสเปนจึงสรุปว่า การออกกำลังกายแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถทดแทนหรือลดผลเสียหรือความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการมีน้ำหนักตัวเกินพอดีได้ และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นทั้งในเพศหญิงและเพศชายคล้ายๆ กัน

ส่วนอาจารย์ Michael Pencina รองคณบดีฝ่ายข้อมูลวิทยาศาสตร์และสารสนเทศของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Duke ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ก็ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เราได้เห็นก็คือปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของหัวใจนั้นจะเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่จัดว่าเป็นโรคอ้วนจะมีภาระความเสี่ยงมากที่สุด

และเมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Oxford ก็เผยแพร่ผลการศึกษาขนาดใหญ่ที่แนะนำว่า การทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงอยู่เสมออาจสำคัญต่อการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าที่เราคิดกัน ส่วนรายงานของ Cleveland Clinic ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปีที่แล้ว ก็แสดงเช่นกันว่าไลฟสไตล์ที่เฉื่อยชานั้นเป็นผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าการสูบบุหรี่ การเป็นโรคเบาหวาน และการเป็นโรคหัวใจเสียอีก

ดังนั้นหากอ่านรายงานเรื่องนี้แล้วยังนึกสงสัยหรือไม่เข้าใจ นายแพทย์ Anthony Rosenzweig แพทย์ด้านหัวใจและผู้สอนที่มหาวิทยาลัย Harvard สรุปว่า ในการสร้างสุขภาพให้ได้ดีที่สุดและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจให้เหลือน้อยที่สุดนั้น เราควรให้ความสนใจกับทั้งสองเรื่องพร้อม ๆ กัน คือรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินพิกัด รวมทั้งหมั่นสนใจออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

XS
SM
MD
LG