ลิ้งค์เชื่อมต่อ

“ข่าวปลอม” ทางทวิตเตอร์ ไปถึงคนอ่านเร็วกว่าและมีคนอ่านมากกว่า “ข่าวจริง”!!


Computer screens display fake tweets that online users can self-generate at a Chinese website in Beijing, China, Jan. 26, 2017.
Computer screens display fake tweets that online users can self-generate at a Chinese website in Beijing, China, Jan. 26, 2017.

การวิจัยนี้ต้องการศึกษาประสิทธิผลของสื่อสังคมออนไลน์ในการช่วยแพร่กระจายข่าวสารทั้งที่เป็นความจริงและที่ไม่เป็นความจริง

ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ว่า ผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่เผยเเพร่ข่าวปลอมมากกว่าหุ่นยนต์โพสต์ข่าวอัตโนมัติ

ทวิตเตอร์ร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้ ทางบริษัทอนุญาตให้ทีมนักวิจัยของ มีเดียเเล็บ จากสถาบันเอ็มไอที (MIT) ศึกษาข้อมูลของบริษัทเเละให้เงินสนับสนุนโครงการวิจัย

ทีมนักวิจัยศึกษาวิเคราะห์ข่าวสารที่ตีพิมพ์ทางทวิตเตอร์ตั้งเเต่เริ่มให้บริการในปี ค.ศ. 2006 หรือ 12 ปีที่แล้ว โดยทีมนักวิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์ข่าวสารกว่า 126,000 ชิ้น ที่เผยแพร่โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ราว 3 ล้านคน ตั้งเเต่เริ่มต้นจนถึงปลายปี 2016 ที่ผ่านมา

การศึกษาพบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของข่าวหรือข้อมูลทั้งหมดที่เผยเเพร่ทางทวิตเตอร์ ไม่มีมูลความจริงหรือเป็นข้อมูลปลอม ในขณะที่ราว 1 ใน 5 มีความจริง ส่วนที่เหลือเป็นทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลปลอมปนเปกัน

ทีมนักวิจัยทีมนี้เปรียบเทียบความรวดเร็วของข่าวปลอมกับข่าวจริงว่า อย่างใดไปถึงผู้อ่านเร็วกว่ากันเเละมีจำนวนผู้อ่านมากกว่า

ซอโรช วอโซอิ (Soroush Vosoughi) นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลที่สถาบันเอ็มไอที ที่มีบทบาทในการนำการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยพบว่า “ข่าวปลอม” แพร่กระจายไปยังผู้อ่านอย่างรวดเร็ว ไปไกลกว่าเ เละในวงกว้างมากกว่า “ข่าวจริง” โดยอยู่ในทุกประเภทของข้อมูล

การศึกษานี้ยังพบด้วยว่า ข่าวปลอมจะใช้เวลาไปถึงผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวน 1,500 คนโดยเฉลี่ยภายในเวลา 10 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับข่าวจริงที่ใช้เวลาราว 60 ชั่วโมง เเละข้อมูลที่ไม่มีมูลความจริงสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้มากกว่าข่าวจริง 35 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ข่าวที่เป็นความจริง ถูกนำไปทวีตต่อหรือเผยเเพร่ต่อเป็นทอดๆ ไปยังผู้ใช้เพียงเเค่ 1,000 กว่าคนเท่านั้น เเต่ข่าวปลอมที่อยู่ในระดับต้นๆ จะมีผู้อ่านมากถึง 100,000 คน

วอโซอิ กล่าวว่า ข่าวปลอมมีระดับความรวดเร็วของการเผยแพร่เเละจำนวนคนอ่านสูง และจะยิ่งเพิ่มความรวดเร็วเเละมีจำนวนคนอ่านเพิ่มมากขึ้นอีกอย่างมาก หากมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง

ผลการศึกษาพบว่า ข่าวปลอมเกี่ยวกับการเมืองเเพร่กระจายไปยังผู้อ่านทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว เเละมีคนอ่านจำนวนมากกว่าจำนวนคนที่อ่านข่าวเกี่ยวกับการก่อการร้าย ข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติ ข่าววิทยาศาสตร์ เเละข่าวหัวข้ออื่นๆ

ทีมนักวิจัยย้ำว่า การวิจัยพบว่ามีการเผยเเพร่ข่าวปลอมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นในระหว่างปี ค.ศ. 2012 ถึง 2016 ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ

การใช้หุ่นยนต์ควบคุมการทำงานอัตโนมัติในการโพสต์ข่าวทางทวิตเตอร์เเละทางสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักมากเรื่องหนึ่ง

ในข้อความทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นาย แจ็ค ดอร์ซี่ (Jack Dorsey) CEO และผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ ยอมรับว่าปัญหาการใช้ทวิตเตอร์อย่างผิดจุดประสงค์ ทั้งที่ดำเนินการโดยผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์และผู้ใช้ที่เป็นหุ่นยนต์ กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

เขากล่าวว่า ทางบริษัทไม่รู้สึกภาคภูมิใจที่มีคนใช้ทวิตเตอร์อย่างผิดจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของตน เเละทางบริษัทขาดความสามารถในการจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างทันการณ์ ทางบริษัทได้เสาะหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เพื่อจัดการกับปัญหานี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ยังได้ทดลองโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายแบบ เเละได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อพยายามหาทางพิสูจน์ข่าวปลอม เเละดึงข่าวปลอมนั้นออกจากหน้าทวิตเตอร์

วอโซอิ กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่โพสต์ จะเผยเเพร่ทั้งข่าวปลอมเเละข่าวจริงเท่าๆ กัน ซึ่งนี่หมายความว่า ผู้ใช้ที่เป็นมนุษย์ เป็นผู้เผยเเพร่ข่าวปลอมมากกว่าหุ่นยนต์

เขากล่าวว่า ข่าวปลอมมีเนื้อหาที่ค้านกับความคาดหวังของคน ทำให้มีคนอ่านมากขึ้นเพราะรู้สึกประหลาดใจ อาทิ หากมีข่าวลือที่ตรงข้ามกับความคาดหวังหรือความเชื่อของคนอ่าน โอกาสที่ผู้อ่านก็จะนำข่าวชิ้นนั้นไปทวีตต่อ ก็จะสูงมากขึ้น

เดบ รอย (Deb Roy) ผู้ร่วมร่างผลการวิจัยนี้ เป็นอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนที่บริษัททวิตเตอร์ เเละตอนนี้เป็นหัวหน้า มีเดียเเล็บ ที่สถาบันเอ็มไอที เขากล่าวว่าผลการศึกษานี้พิสูจน์ว่า ข่าวปลอมได้รับความสนใจจากคนอ่านมากกว่าข่าวจริง

เขากล่าวว่า ผลการศึกษานี้สร้างคำถามตามมาหลายอย่างเกี่ยวกับวิธีการที่ควรใช้ในการป้องกันปัญหานี้ในอนาคต เขาเชื่อว่าการป้องกันต้องใช้ความพยายามร่วมกันระหว่างบรรดาบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ บริษัทข่าวหรือผู้ตีพิมพ์ข่าวตลอดจนผู้ใช้เองเพื่อต่อต้านข่าวปลอม

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG