ลิ้งค์เชื่อมต่อ

“กูเกิ้ล” ปรับแก้ระบบค้นหาข้อมูล เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย "ข่าวปลอม" ในโลกออนไลน์


A Google search page is seen through a magnifying glass in this photo illustration taken in Brussels May 30, 2014.
A Google search page is seen through a magnifying glass in this photo illustration taken in Brussels May 30, 2014.

ความพยายามลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในโครงการของ “เฟสบุ๊ค” และ “วิกิพีเดีย” ด้วย

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:25 0:00

Google บริษัทผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของโลก เพิ่มมาตรการคัดกรองข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือนความจริงบนอินเตอร์เน็ต หลังเกิดปัญหาการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของข่าวเท็จในยุคปัจจุบัน

ไม่นานนี้เพิ่งเกิดเรื่องที่กระทบถึงความน่าเชื่อถือของ Google หลังจากผลการค้นหาข้อมูลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำผู้ใช้ไปที่เว็บไซต์ที่บอกว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งและได้เสียงมหาชนหรือ popular vote มากกว่า "นางฮิลลารี่ คลินตั้น"

ซึ่งผิดจากความเป็นจริง เพราะเขาชนะเพียง electoral vote หรือเสียงคณะผู้เลือกตั้งที่เป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ เท่านั้น

ล่าสุดบริษัท Google ได้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อลดโอกาสที่ข่าวปลอมหรือ fake news จะได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง

มาตรการใหม่นี้จะป้องกันไม่ให้ fake news ปรากฏในผลการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้

Google Search
Google Search

Ben Gomes ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมด้านการค้นหาข้อมูล กล่าวว่า "แม้ความพยายามนี้จะไม่กำจัดปัญหาข้อมูลผิดๆ ให้หมดไป แต่บริษัทคิดว่าน่าจะสามารถก้าวทันปัญหาหรือตัดไฟแต่ต้นลมได้"

เขากล่าวว่าแม้สัดส่วนของ fake news ในผลการค้นหาของข้อมูลบน Google จะมีเพียงร้อยละ 0.25 แต่ก็มากพอที่จะคุกคามความน่าเชื่อถือของ Google ที่มีผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลก

การเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมของ Google ในครั้งนี้ ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเดาใจผู้ใช้ ว่าต้องการค้นหาข้อมูลเรื่องใดด้วยการช่วยเติมข้อความให้สมบูรณ์ขณะที่ผู้ใช้กำลังพิมพ์อยู่

เครื่องมือที่ว่านี้เรียกว่า "Autocomplete" ที่หลายคนคงเคยเห็นเมื่อเริ่มพิมพ์ข้อความในช่องคำที่ต้องการค้นหา

Autocomplete ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ จะกำจัดการเติมข้อความให้สมบูรณ์ที่ส่อไปในทางเสื่อมเสีย

อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ Google เคยช่วยเพิ่มส่วนท้ายของคำถามเกี่ยวกับผู้หญิง เมื่อผู้ใช้เริ่มใส่คำว่า “Are women” ระบบดังกล่าวจะเติมประโยคว่า “Are women evil?” หรือ “ผู้หญิงชั่วร้ายใช่ไหม?” โดยอัตโนมัติ

แต่ต่อไปจากนี้ Google หวังว่าจะสามารถไม่ปล่อยให้เกิดข้อความเชิงลบเช่นนี้ใน autocomplete

นอกจากนั้น Google เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ส่งความคิดเห็น และข้อท้วงติงเกี่ยวกับความสามารถในการเดาใจของระบบ autocomplete ได้ด้วย

ในเวลาเดียวกันนี้ Facebook สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่กำลังทำงานร่วมกับสำนักข่าว Associated Press เพื่อป้องกันการแพร่หลายของข่าวปลอมในโลกออนไลน์เช่นกัน

The founder of Wikipedia has launched a new website to fight fake news.
The founder of Wikipedia has launched a new website to fight fake news.

ความพยายามลักษณะเดียวกัน ยังเป็นโครงการของ Jimmy Wales ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Wikipedia สารานุกรมออนไลน์ ที่เป็นที่พึ่งของคนจำนวนมาก

เขาเปิดตัวเว็บไซต์ Wikitribune ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับนักข่าวมืออาชีพและอาสาสมัครกรองข่าวและตรวจข้อเท็จจริง เพื่อช่วยหยุดยั้งการเผยแพร่ข่าวปลอม

(รายงานโดย ห้องข่าววีโอเอ และ Associated Press / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG