ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: ใครกันแน่ที่ขู่ถล่มยูเครนด้วยอาวุธนิวเคลียร์


Vladimir Putin and RS-24 Yars (SS-27 Mod 2) ICBM, (Georgian service RFE/RL)
Vladimir Putin and RS-24 Yars (SS-27 Mod 2) ICBM, (Georgian service RFE/RL)
อนาโตลี อันโตนอฟ

อนาโตลี อันโตนอฟ

เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ

“เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้ายกระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ ทำการขู่ขวัญชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลกด้วย ‘คำขู่เรื่องนิวเคลียร์’”

เท็จ

เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา อนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ อ้างว่า สหรัฐฯ ทำการแพร่กระจายข้อมูลเท็จเกี่ยวกับคำขู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยรัสเซีย โดยระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร The National Interest ว่า “เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เดินหน้ายกระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ ทำการขู่ขวัญชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลกด้วย ‘คำขู่เรื่องนิวเคลียร์ (และ)การใช้โวหารเช่นนั้นบิดเบือนคำแถลงของผู้นำรัสเซีย”

คำกล่าวอ้างนี้ เป็นความเท็จ

ในความเป็นจริง คำขู่ทั้งที่เป็นแบบคลุมเครือและแบบค่อนข้างโจ่งแจ้งว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีนั้นมาจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และลูกสมุนทั้งหลาย ตั้งแต่กองกำลังยูเครนเริ่มยึดคืนพื้นที่กลับคืนมาได้เมื่อเดือนที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ รัสเซียระบุว่า ตนจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์เพื่อตอบโต้ในกรณีที่ถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์เท่านั้น แต่บัดนี้ ดูเหมือนว่า อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีที่มีผลทำลายล้างรุนแรงไม่ถึงที่สุดเป็นสิ่งที่รัสเซียอาจคิดว่า น่าจะใช้กับยูเครนได้แล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับจุดยืนเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2000 ปธน.ปูตินอนุมัติหลักนิยมทางทหารซึ่งระบุว่า รัสเซียสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ในกรณีที่ว่า 1) มีการใช้ “นิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงอื่นใด” ต่อรัสเซียหรือพันธมิตรของรัสเซีย หรือ 2) “เพื่อตอบโต้การรุกรานขนานใหญ่ด้วยอาวุธทั่ว ๆ ไป ในสถานการณ์ที่สร้างวิกฤตต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหพันธรัฐรัสเซีย”

หลักนิยมทางทหารนี้ยังระบุด้วยว่า รัสเซียไม่สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อรัฐที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons – NPT) และไม่ได้มีอาวุธดังกล่าวอยู่ในครอบครอง – เว้นแต่ในกรณีที่รัฐดังกล่าวร่วมกับรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์โจมตีรัสเซียก่อน

ทั้งนี้ ยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับ NPT ในปี ค.ศ. 1994 หลังสมัครใจยอมยกเลิกคลังอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ของตนที่ตกทอดมาจากยุคของสหภาพโซเวียต

และในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 2003 ปธน.ปูติน ลงนามรับรองกฎหมาย “ว่าด้วยการให้สัตยาบันสนธิสัญญาลดการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Offensive Reductions Treaty – SOR) ที่ทำระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ” โดยภายใต้สนธิสัญญานี้ ทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะลดอาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์ให้แต่ละฝ่ายเหลือหัวรบไม่เกิน 2,200 หัว

สำหรับผู้ที่ไม่สันทัดคำนิยามเหล่านี้ อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์คือ ระเบิดขนาดใหญ่และขีปนาวุธที่สามารถทำลายเมืองทั้งเมืองให้ราบเป็นหน้ากลองได้อย่างง่ายดาย ส่วนอาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีคืออาวุธที่ใช้ในสนามรบและมีอำนาจทำลายล้างที่ต่ำกว่า

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNN เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฮามิช เดอ เบรตตัน-กอร์ดอน อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนิวเคลียร์กัมมันตรังสี ชีวภาพและเคมี ของอังกฤษและนาโต้ กล่าวว่า:

“มันเป็นเรื่องของขนาด – อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธศาสตร์คือ วันโลกาวินาศ นั่นเอง ... รัสเซียและชาติตะวันตก (ซึ่งหมายถึงสหรัฐฯ อังกฤษและฝรั่งเศส) ต่างมีหัวรบฝ่ายละเกือบ 6,000 หัว ตามข้อมูลจากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ ซึ่งจำนวนดังกล่าวนั้นมากพอที่จะพลิกโลกทั้งโลกให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ... จุดนี้มีชื่อเรียกว่า การประกันอำนาจทำลายล้างระหว่างกัน และมีชื่อย่อว่า MAD (Mutually Assured Destruction) ...

“อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีนั้น คือหัวรบที่เล็กกว่ามากที่มีแรงระเบิดสูงสุดพอ ๆ กับระเบิดไดนาไมต์จำนวน 100,000 ตัน – ซึ่งมีพลังทำลายล้างน้อยกว่าหัวรบด้านยุทธศาสตร์ขนาด 1 ล้านตันอย่างมาก”

และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ตัวอย่างที่จะนำมาเปรียบเทียบได้ก็คือ ระเบิดนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีแรงระเบิดประมาณ 15,000 ตัน

ต่อมาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ปธน.ปูติน อนุมัติหลักนิยมทางทหารชุดใหม่ที่ระบุว่า รัสเซียสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้อาวุธพลังทำลายล้างสูงที่มีการนำมาใช้ต่อตนหรือพันธมิตร และเพื่อตอบโต้การรุกรานต่อรัสเซียที่ใช้อาวุธแบบทั่ว ๆ ไป ที่เป็นภัยต่อ “การดำรงอยู่ของรัฐ”

ในหลักนิยมทางทหารที่ปรับเปลี่ยนใหม่นี้ รัสเซียถอดส่วนที่ห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อรัฐที่เป็นสมาชิกของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ออกไปด้วย

และในภาพยนตร์ The World Order 2018 ซึ่งอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของปธน.ปูติน กับ วลาดิเมียร์ โซลอฟยอฟ พิธีกรรายการทีวีช่องสื่อรัสเซีย ผู้นำเครมลินกล่าวว่า รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อการดำรงอยู่ของประเทศนั้นถูกคุกคาม และระบุว่า “นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเป็น การโจมตีตอบโต้ (และ)หากเป็นการตัดสินใจที่จะทำลายรัสเซีย เราก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะตอบโต้”

ต่อมา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2018 ปธน.ปูติน ยืนยันว่า รัสเซียจะโจมตีประเทศอื่นด้วยนิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อรัสเซียถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน

ผู้นำรัสเซียยังระบุด้วยว่า “หลักนิยมทางทหารด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเราไม่ได้เปิดทางให้มีการชิงโจมตีก่อน ... แนวคิดของเรานั้นอ้างอิงเรื่องของการโจมตีโต้กลับ ... ทำไมผมถึงใช้คำว่า ‘โต้กลับ’ ... ก็เพราะเราจะยิงโต้ขีปนาวุธที่มุ่งหน้ามาหาเรา ด้วยการส่งขีปนาวุธไปในทิศทางของผู้รุกราน...”

นอกจากนั้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2020 ปธน.ปูติน ลงนามในกฤษฎีกาว่าด้วย “พื้นฐานของนโยบายแห่งรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียในกรณีของการป้องปรามนิวเคลียร์” ซึ่งมีเนื้อหาที่ระบุว่า รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ หรือ หาก ‘การดำรงอยู่ของรัฐ’ ถูกข่มขู่ด้วยการโจมตีทางทหารซึ่งไม่ได้ใช้นิวเคลียร์

ท่าทีทั้งหมดนี้ของรัสเซียเริ่มเปลี่ยนไปอีก เมื่อปธน.ปูติน ส่งกองทัพรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังจากสั่งให้ทหารจำนวนราว 150,000 นายไปประจำการตามแนวชายแดนที่ติดกับยูเครน พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้มีแผนจะโจมตีเพื่อนบ้านแต่อย่างใด

จากนั้น ผู้นำรัสเซียได้สั่งการให้กองกำลังนิวเคลียร์ของประเทศให้ “ระวังภัยเป็นพิเศษ” และทำการซ้อมรบโดยใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้ง ทำการขู่แบบอ้อม ๆ ว่า รัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์

และเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ปธน.ปูติน กล่าวว่า “หากใครก็ตามตั้งใจที่จะแทรกแซงจากภายนอกและทำการขู่ทางยุทธศาสตร์ต่อรัสเซียที่เรายอมรับไม่ได้ พวกเขาควรรับรู้ว่า การโจมตีโต้กลับของเราจะรวดเร็วดั่งสายฟ้าฟาด”

หลังจากกองทัพยูเครนสามารถผลักดันทหารรัสเซียในเขตปกครองคาร์คิฟให้ถอยร่นไปเดือนเมื่อเดือนที่แล้ว คำขู่ของรัสเซียก็เริ่มรุนแรงขึ้นอีก โดยผู้นำมอสโกกล่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายนว่า หากมีภัยคุกคามต่อ “บูรณภาพแห่งดินแดน” ของรัสเซีย ซึ่งมีความหมายมากกว่า ‘การดำรงอยู่ของรัสเซีย’ สถานการณ์เช่นนั้นอาจเป็นเหตุผลให้มีการโต้คืนได้ โดยหลายฝ่ายเข้าใจคำขู่นี้ว่า หมายถึง การใช้อาวุธนิวเคลียร์

ปธน.ปูติน ยังกล่าวด้วยว่า “ในกรณีที่มีภัยคุกคามต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศเรา และเพื่อปกป้องรัสเซียและประชาชนของเรา เราจะต้องใช้อาวุธทุกอย่างที่เรามี” และว่า “พวกที่ใช้นิวเคลียร์แบล็กเมล์เรา ควรรู้ไว้ว่า ลมนั้นพัดหวนกลับได้”

ในวันเดียวกัน ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียและปัจจุบันเป็นรองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย ออกมาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับจุดยืนของรัสเซีย ว่า รัสเซียจะมองความพยายามของกองทัพยูเครนที่จะปลดปล่อยอาณาเขตในแคว้นดอสบาสที่กองทัพมอสโกยึดครองไว้ ว่าเป็นเหตุผลพอที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์

และหลังการทำประชามติเพื่อผนวกอาณาเขต 4 แห่งของยูเครนเข้ากับตน ทำเนียบเครมลินก็พร้อมอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นอาณาเขตทางพฤตินัยของรัสเซียแล้ว

ในเรื่องนี้ เมดเวเดฟ ให้ความเห็นผ่านแอปพลิเคชั่น เทเลแกรม ว่า “การปกป้องอาณาเขตทั้งหมดที่มาร่วม(กับเรา) จะเข้มแข็งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยกองกำลังติดอาวุธของรัสเซีย” และยืนยันด้วยว่า รัสเซียพร้อมที่จะทำการระดมพลและใช้อาวุธต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้ง อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์และอาวุธอื่น ๆ เพื่อการปกป้องอาณาเขตของตน

และในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งกองกำลังยูเครนสามารถยึดพื้นที่เมืองลีแมน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสำคัญในแคว้นดอนบาส กลับคืนมาได้และขับไล่ทหารรัสเซียออกไปได้สำเร็จ แรมซาน คาดีรอฟ ผู้นำสาธารณรัฐเชชเนียซึ่งส่งทหารร่วมรบข้างเคียงรัสเซียในยูเครน กล่าวว่า มอสโกควรพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างต่ำ เพื่อตอบโต้การโจมตีจากฝ่ายยูเครน

คาดีรอฟ ระบุในข้อความที่ส่งผ่านทางแอปพลิเคชั่น เทเลแกรม ว่า “เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินมาตรการที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมีทั้งการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่แถบชายแดนและการใช้อาวุนิวเคลียร์พลังทำลายล้างต่ำ”

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญในชาติตะวันตกยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับสิ่งที่ปธน.ปูติน จะทำ

รอด ธอร์นตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจาก King’s College London บอกกับนิตยสารฟอร์บ ว่า อาวุธนิวเคลียร์ด้านยุทธวิธีก็อาจมีผลทำลายล้างในขั้นหายนะได้ เพราะกัมมันตรังสีจากอาวุธดังกล่าว ซึ่งหมายถึง ปัญหาสุขภาพของผู้คนในระยะยาว หรือแม้กระทั่ง การเสียชีวิต โดยยุโรปและเอเชียน่าจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีมากที่สุด

และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา เดวิด เพเทรอุส อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ ABC This Week ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรนาโต้สามารถจมกองเรือ Black Sea ของรัสเซียลงได้ และทำลายกองทหารรัสเซียในยูเครนได้ ถ้าปธน.ปูติน ทำตามคำขู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง

XS
SM
MD
LG