ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ปานปรีย์' ชี้หารือ IPEF ยังติดเรื่องการค้า - เผยถึงอุปสรรคช่วยตัวประกันไทยในกาซ่า


VOA Thai interview Deputy Prime Minister / Minister of Foreign Affairs -- Parnpree Bahiddha-Nukara Nov 12, 2023
VOA Thai interview Deputy Prime Minister / Minister of Foreign Affairs -- Parnpree Bahiddha-Nukara Nov 12, 2023

การประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC: Asia-Pacific Economic Cooperation) กำลังจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ ที่สหรัฐ ฯ

ประเด็นที่ไทยจะนำเข้าหารือที่เอเปค มีโจทย์หลักในเรื่องการค้าและการลงทุน ส่วนสาระจากการหารือนอกรอบคาดว่าจะครอบคลุมหลากหลายหัวข้อที่สะท้อนวาระการทูตที่ไทยต้องการเห็นความคืบหน้า

เมื่อวันอาทิตย์วีโอเอไทยมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกฯ ของไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่เพิ่งเดินทางถึงนครซานฟรานซิสโก เมืองเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปคในครั้งนี้

เขาได้เปิดเผยกับวีโอเอไทยว่า การเจรจากรอบการค้าที่สหรัฐฯ ริเริ่ม ที่เรียกว่า IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) มีความคืบหน้าไปหลายด้านจะติดแต่เพียงเรื่องการค้าที่เป็นเสาหลักหนึ่ง ในทั้งหมดสี่เสาหลักของ IPEF ซึ่งประกอบด้วย การค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความโปร่งใสและยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

“ผมก็คิดว่า ทั้งสี่เสาหลักมาถูกทางแล้ว และค่อนข้างเป็นเรื่องที่ทันสมัย... เมื่อถามถึงความคืบหน้า เวลานี้สามเสาหลักหลังมีความคืบหน้าไปเยอะแล้วก็พร้อมที่จะลงนามกัน แต่เสาหลักแรกซึ่งเป็นเรื่องการค้าหรือ trade เป็นเสาหลักที่ต้องเจรจากัน เพราะยังมีรายละเอียดอีกหลาย ๆ ด้านที่ยังไม่ลงตัว แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะจบลงด้วยดี"

ประเทศที่ร่วมเจรจากรอบเศรษฐกิจ IPEF มี 14 ประเทศ ได้เเก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และไทย โดยอินเดียและฟิจิไม่ได้อยู่ในกลุ่ม เอเปคแต่ร่วมหารือกรอบ IPEF

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันศุกร์ว่า แหล่งข่าว 3 รายระบุว่าเสาหลัก IPEF เรื่องการค้าเป็นหัวข้อที่ยากที่จะให้เกิดความเห็นพ้องต้องกัน โดยหลายประเทศยังไม่เต็มใจตอบรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ หรือขอเวลาพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิ่งเเวดล้อม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกฯ ของไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกฯ ของไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร

ระหว่างการสัมภาษณ์ รัฐมนตรีปานปรีย์ ยังได้กล่าวถึงแผนช่วยเหลือตัวประกันชาวไทย ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป ในสงครามอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสจับตัวประกันชาวไทยไปอย่างน้อย 23 คน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวต่างชาติจากประเทศเดียวกันทั้งหมดที่ใหญ่ที่สุด ที่ถูกฮามาสจับไว้ และยังไม่รวมถึงชาวไทยกว่า 30 คนที่ถูกสังหารในความขัดแย้งครั้งนี้

“จริง ๆ แล้วตัวประกันของเราไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับทั้งสอง (ฝ่าย) เพราะฉะนั้นเค้าไม่ควรได้รับผลกระทบตรงนี้ นอกจากนั้นการจับตัวประกันไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรม... เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันของทุกคนโดยเฉพาะของไทยให้เร็วที่สุด”

นายปานปรีย์ระบุถึงข้อมูลจากเจ้าหน้าในตะวันออกกลางที่รัฐบาลไทยประสานงานในความพยายามช่วยตัวประกันชาวไทย

“เค้าบอกว่าความยากที่จะเอาตัวประกันออกมาในเวลานั้นเนื่องจากคนที่จับตัวประกันไม่ได้มีกลุ่มเดียว มีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม อาจจะเกินสองกลุ่มด้วยซ้ำ แลัวตัวประกันอาจถูกจับแยกกัน ไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งหมด”

รัฐมนตรีปานปรีย์ยังได้ตอบข้อซักถามถึงนโยบายของไทยกับรัสเซียหลังจากที่ไทยขยายกรอบเวลาให้นักท่องเที่ยวรัสเซียพำนักในไทยได้สูงสุดถึง 90 วัน จากเดิม 30 วัน รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีไทยเศรษฐา ทวีสินได้เอ่ยปากชวนประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูติน มาเยือนไทย แม้ว่า ที่ผ่านมาประเทศตะวันตกที่เป็นมิตรกับไทยได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียมาโดยตลอดสืบเนื่องจากที่รัสซียบุกยูเครนเมื่อเดือนก.พ. 2022

นายกรัฐมนตรีไทยเศรษฐา ทวีสิน และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูตินที่การประชุม Belt and Road Forum ที่กรุงปักกิ่ง วันที่ 17 ต.ค. 2023
นายกรัฐมนตรีไทยเศรษฐา ทวีสิน และประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูตินที่การประชุม Belt and Road Forum ที่กรุงปักกิ่ง วันที่ 17 ต.ค. 2023

“มันต้องแยกกันเป็นสองส่วนนะ ในมุมการเมืองก็เรื่องนึง ในเรื่องเศรษฐกิจก็อีกเรื่องนึง...เรื่องวีซ่า 90 วันไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองเลย เป็นเรื่องของเศรษฐกิจโดยตรง ทุกวันนี้ชาวรัสเซียมาเที่ยวประเทศไทยเยอะอยู่แล้ว แล้วก็ชอบประเทศไทยมาก... เรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องความขัดแย้งของมหาอำนาจ ...อย่างที่ผมเรียนไว้แล้วว่าเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ”

เขาบอกด้วยว่า “ท่านนายกฯ เวลาไปเยือนที่ไหน โดยมารยาทท่านก็จะเชิญทุกท่าน พอถึงเวลา จะต้องมาจริงหรือไม่มาจริง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง”

นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งเดินทางถึงซานฟรานซิสโกแล้วเช่นกัน มีกำหนดพบภาคธุรกิจ ก่อนขึ้นแถลงที่เวทีผู้นำบริษัทเอกชน APEC CEO Summit ในช่วงกลางสัปดาห์ รวมถึงจะร่วมงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำเอเปคในวันพุธ ที่ 15 พ.ย.

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีจะพบกับชุมชนไทยในเขตแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. ซึ่งวีโอเอจะมีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์

  • รายงานโดย: สุภกิจ ภัทรธีรานนท์ วีโอเอไทย

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG