ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'มาครง' เร่งเร้าอียูให้ต่อต้านประชาธิปไตยไม่เสรีในยุโรปก่อนเยือนสหรัฐฯ


French President Emmanuel Macron april 16, 2018
French President Emmanuel Macron april 16, 2018

หลายคนกังวลต่อการปลุกกระแสประชานิยมในยุโรปตอนกลางและตะวันออก

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกำลังจะเยือนสหรัฐฯ เป็นเวลาสามวัน เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ โดยมีประเด็นสำคัญที่การหารือเรื่องซีเรีย กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ร่วมมือกับสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศใส่ซีเรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แต่ดูเหมือน สิ่งที่กำลังสร้างความกังวลให้กับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกในขณะนี้ คือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองในยุโรป

ในสุนทรพจน์ล่าสุดต่อรัฐสภายุโรปที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปต่อต้านการปลุกระดมแนวคิดลัทธิประชานิยมในหมู่ประชาชน

ผู้นำฝรั่งเศส กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเกิดความนิยมในความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี เเละกำลังขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง

ความคิดเห็นของ ปธน. ฝรั่งเศส มีขึ้นหลังจากที่ตัวแทนของกลุ่มลัทธิประชานิยมซึ่งต่อต้านสหภาพยุโรป ชนะการเลือกตั้งในฮังการีกับอิตาลี เเละขณะที่สหภาพยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับรัฐบาลขวาจัดของโปแลนด์ในเรื่องของหลักนิติธรรม

ปธน. มาครง กล่าวว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับเเนวคิดประชานิยมที่กำลังแพร่ระบาดในยุโรปขณะนี้ ซึ่งส่งเสริมความคิดที่ว่าความเป็นประชาธิปไตยนำไปสู่การไร้อำนาจ และในห้วงที่อำนาจนิยมกำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัว เขาย้ำว่าต้องไม่ยอมรับประชาธิปไตยเเบบอำนาจนิยม แต่ต้องส่งเสริมอำนาจที่มาจากประชาธิปไตย

มีคนจำนวนมากในทั้งสองฟากของมหาสมุทรแอตเเลนติก กำลังตรึกตรองอย่างหนักถึงอันตรายของประชาธิปไตยที่ไม่เสรีและอำนาจนิยม โดยเฉพาะในยุโรปตอนกลางเเละยุโรปตะวันออก เเละผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่ออนาคตของยุโรปทั้งทวีป

ในที่ประชุมของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายในกรุงวอชิงตัน ที่ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์ ราเดค ชิคอฟสกี้ (Radek Sikorski) ท้าทายความคิดเห็นของ นายวิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orban) นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ที่มาจากสายประชานิยม ที่ว่า ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีความเป็นเสรีนิยม

นายชิคอฟสกี้ กล่าวว่า เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง นักประชานิยมจะเน้นไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นอย่างเเรก ที่คนให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนั้นทั่วยุโรป นั่นก็คือ "ประเด็นคนเข้าเมือง"

นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ นายออร์บาน และพรรคฟิเดสซ์ (Fidesz) เเละแนวร่วม ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เขากล่าวว่า ผลการเลือกตั้งนี้ทำให้เขามีอำนาจข้างมากในการควบคุมสิทธิ์ของคนเข้าเมือง เเละผลักดันให้จัดตั้งสหภาพยุโรปที่ประเทศสมาชิกมีความเป็นเอกราช เเทนที่จะเป็นการรวมตัวเเบบสหภาพยุโรป

ชาร์ลส เกททิ (Charles Gati) ศาสตราจารย์ด้านยุโรปเเละยูเรเชี่ยนศึกษา (European and Eurasian Studies) ที่ภาควิชาระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูง มหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮ็อบกินส์ ในรัฐเเมรี่เเลนด์ (Johns Hopkins School of Advanced International Studies) กล่าวว่า โดยรวมแล้ว ชาติต่างๆ ในยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนกลางที่เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป กำลังมุ่งหน้าไปในทางที่ถูกเเล้ว

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า "ประชาธิปไตยแบบถอยหลังเข้าคลอง" ไม่ใช่คำกำจัดความที่ถูกต้องในการอธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโปแลนด์และฮังการี

เขากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทั้งสองชาตินี้เข้าข่ายว่าอาจเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม หรือ รัฐบาลกึ่งอำนาจนิยม ที่แอบแฝงมาในรูปของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย

ด้าน เฮ็ทเตอร์ คอนลี่ (Heather Conley) แห่งศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์เเละระหว่างประเทศศึกษา ในกรุงวอชิงตัน (Washington-based Center for Strategic and International Studies) กล่าวว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปขณะนี้ เธอกล่าวว่า การมีฝ่ายค้านที่อ่อนแอลง ตลอดจนนโยบายเเละโครงสร้างต่างๆ ที่มีขึ้นเพื่อมุ่งลดและสร้างความอ่อนแอเเก่ฝ่ายค้าน ล้วนเป็นสาเหตุให้ยุโรปเริ่มปรับไปเป็นระบบประชาธิปไตยที่ไม่เสรีมากขึ้น

เกิดคำถามขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปนี้จะแก้ไขได้หรือไม่?

ในจดหมายเปิดผนึกที่เขียนถึงนายกรัฐมนตรี แองเกล่า เเมร์เคิ่ล แห่งเยอรมนี บรรดานักวิชาการ นักเขียนเเละนักกิจกรรม ได้วิจารณ์นางเเมร์เคิ่ล ที่ไม่ออกมาตอบโต้การโจมตีของนายออร์บานต่อประชาธิปไตยของฮังการี

อย่างไรก็ตาม นายชิคอฟสกี้ กล่าวว่า สหภาพยุโรปทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้เเล้ว เพราะการรวมตัวกันของสหภาพยุโรปขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นร่วมกันระหว่างรัฐบาลในแต่ละประเทศสมาชิก เขากล่าวว่าหากความเชื่อมั่นนี้ร้าวฉาน ผลกระทบที่ตามมาจะรุนแรงถึงรากโคนทั่วทั้งสหภาพยุโรป



(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG