การแบ่งกันทำงานบ้านคนละครึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ยุติธรรมที่สุดในยุคที่สามีภรรยาส่วนใหญ่ต่างออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่ แต่คุณ Paula Szuchman และคุณJenny Anderson ผู้เขียนหนังสือ Spousonomics: Using Economics to Master Love, Marriage, and Dirty Dishes บอกว่าวิธีแบ่งแบบตายตัว 50/50 นั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา เพราะไม่มีใครทำอะไรได้ดีและรวดเร็วไปเสียทุกอย่าง
ผู้เขียน Spousonomics แนะนำให้ใช้หลักเศรษฐศาสตร์เรื่องความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบหรือ Comparative Advantage เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาชีวิตคู่ โดยหลักการดังกล่าวบอกไว้ว่าการแบ่งงานกันทำตามที่แต่ละคนถนัดจะทำให้เกิดประโยชน์และประสิทธิผลสูงสุดและมีต้นทุนต่ำกว่า พูดง่ายๆคือใครคิดว่าตนเองถนัดหรือชอบงานล้างจานมากกว่าก็ควรรับผิดชอบงานล้างจานประจำบ้านไปเสียเอง ส่วนใครที่คิดว่าเก่งด้านทำอาหารหรือซักผ้าได้เร็วกว่าก็ควรรับหน้าที่นั้นไป
และเพื่ออธิบายแนวคิดที่ว่านี้ให้ชัดเจนและเกิดผลดียิ่งขึ้น ผู้เขียนหนังสือ Spousonomics ยังชี้ถึงเทคนิคหรือเคล็ดลับบางประการเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วย
หนึ่งคือทั้งคู่จะต้องเปิดเผยอย่างซื่อสัตย์ต่อกันว่างานไหนที่ตนชอบหรือคิดว่าทำได้รวดเร็วกว่า ซึ่งจะว่าเป็นหัวใจสำคัญของแนวทางความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบนี้ก็ว่าได้ เช่นหากวันไหนนึกสนุกอย่างล้างจานก็ขอเป็นฝ่ายล้างเอง ซึ่งจะทำให้งานเสร็จเร็วยิ่งขึ้น
สองคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่นรู้ว่าตนไม่ชอบหรือไม่ถนัดตัดหญ้า ก็ควรพยายามเรียนรู้วิธีตัดหญ้าให้คล่องแคล่ว กล่าวคือต้องไขว่หา เรียนรู้ ยืดหยุ่นและไม่ยึดติด
สามคือการปล่อยวางจากความสมบูรณ์แบบ คือทำใจให้ได้เมื่อคู่รักของตนทำงานบ้านไม่ได้ดั่งใจ เช่นหากเห็นว่าสามีพับเสื้อผ้าไม่เรียบร้อยก็ไม่ต้องถึงกับรื้อออกแล้วพับใหม่ เพราะอาจทำให้เสียกำลังใจได้
สี่คือให้นึกไว้เสมอว่า ความยุติธรรมไม่จำเป็นต้องหมายถึงเท่าเทียมหรือเท่ากันแบบ 50/50 เสมอไป แต่อาจหมายถึงความสมดุลซึ่งอาจเป็น 60/40, 70/30 หรือ 99/1 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคู่แต่ละครอบครัว ซึ่งในที่สุดตัวเลขคงไม่สำคัญเท่ากับความพึงพอใจของคนสองคน
ผู้เขียน Spousonomics สรุปส่งท้ายว่า หลักการพื้นฐานของชีวิตคู่นั้นไม่แตกต่างจากหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เพราะคู่รักต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทอง กำลังกายและกำลังใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุขสูงสุดเท่าที่จะทำได้