ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ตะวันตกพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซียมากเกินไปหรือไม่?


ภาพที่ถ่ายเมื่อ 10 กันยายน 2023 เผยให้เห็นภาพของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Rivne ในช่วงที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน
ภาพที่ถ่ายเมื่อ 10 กันยายน 2023 เผยให้เห็นภาพของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Rivne ในช่วงที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน

เมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา แคนาดาเพิ่งบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับภาคธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย มุ่งเป้าไปที่บริษัทโรสอะตอม (Rosatom) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านพลังงานปรมาณูของรัฐบาลรัสเซีย เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ใช้มาตรการคล้ายกันนี้ไปตั้งแต่เดือนเมษายน

แต่ดูเหมือนว่าชาติตะวันตกรายอื่น ๆ จะยังคงสัมพันธ์กับบริษัทโรสอะตอม ที่ครองระบบห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานนิวเคลียร์ของโลก และนำไปสู่คำถามที่ว่าชาติตะวันตกพึ่งพาพลังงานนี้จากฝั่งรัสเซียมากเกินไปหรือไม่?

ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกเดินหน้าลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องขยายกรอบการลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ อาจเป็นสิ่งที่ท้าทายชาติตะวันตกมากกว่าเดิม

ข้อมูลจากฟอร์บส (Forbes) ชี้ว่า บริษัทโรสอะตอม (Rosatom) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านพลังงานปรมาณูของรัฐบาลรัสเซีย เพียงบริษัทเดียวควบคุม 38% ของตลาดยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ ขณะที่รัสเซียมีส่วนแบ่งตลาดนี้ถึง 46%

ทางการยูเครนพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลชาติตะวันตกมาหลายต่อหลายครั้ง ให้บังคับใช้มาตรการลงโทษต่อภาคอุตสาหกรรมนิวเคลียร์รัสเซีย โดยเฉพาะกับบริษัทโรสอะตอม โดยประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ยังได้เรียกร้องให้บรรดาผู้นำสหภาพยุโรปมีจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้นกว่านี้

ผู้นำยูเครนกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ยูเครนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยังไม่มีมาตรการลงโทษใด ๆ ต่อโรสอะตอม ที่คนของพวกเขาเดินหน้ายึดครองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เชียและทำให้พวกเราตกอยู่ในอันตราย”

คำตอบของเรื่องนี้อยู่ในตัวเลขการนำเข้าพลังงานไปหมดแล้ว อ้างอิงข้อมูลจากประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป หรือ ยูเรตอม (European Atomic Energy Community - EURATOM) ที่รายงานว่า เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ยุโรปนำเข้ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะ 17% จากรัสเซีย และอีก 27% มาจากคาซัคสถาน ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรรัสเซีย และการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ยุโรปเริ่มอ้าแขนรับพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลมากขึ้น

ย้อนกลับมาดูฝั่งสหรัฐฯ เฉพาะปี 2022 ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว บริษัทสหรัฐฯ นำเข้าพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซีย คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ในเดือนเมษายนปีนี้ สหรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับบริษัทในเครือของโรสอะตอม

แดเนียล ฟรีด จากสถาบันคลังสมอง Atlantic Council ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “เมื่อย้อนมองไปในช่วงเริ่มต้นของการบังคับใช้มาตรการลงโทษต่าง ๆ ช่วงที่ผมเริ่มดูแลเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลอเมริกันเมื่อปี 2014 ผมได้เรียกร้องให้ทุกบริษัทที่ผมพบว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจกับรัสเซีย ให้หาหนทางในการกระจายความเสี่ยงของแหล่งพลังงานที่พวกเขาใช้อยู่ เพื่อที่ว่าบริษัทของรัสเซียจะไม่มีอำนาจต่อรอง ... และผมคิดว่าเราค่อนข้างล่าช้าเกินไปในการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานนิวเคลียร์”

ซอนย่า ดี. ชมิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งมหาวิทยาลัย Virginia Tech เห็นด้วยกับมุมมองของฟรีด โดยชี้ว่าชาติตะวันตกสามารถมองหาแหล่งยูเรเนียมเสริมสมรรถนะที่อื่น ๆ ได้ มากกว่าการหาทางเลือกอื่น ๆ ในการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม

“การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ในชั่วข้ามคืน มันมีขั้นตอนกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา การลงทุน และมีต้นทุนสูง ในโลกแห่งทุนนิยม คุณจะมองหาผู้ที่มีการจัดตั้งโรงงานและผู้ที่จัดส่งได้เลย”

ยูเครนตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้ส่งออกยูเรเนียมเสริมสมรรถนะเช่นกัน เจอร์แมน กาลุชเชนโก (German Galushchenko) รัฐมนตรีพลังงานยูเครน ตั้งเป้าว่า ยูเครนจะเริ่มผลิตเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า และจะจัดส่งพลังงานนี้ให้แก่สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฟินแลนด์ และบัลแกเรีย ที่ใช้เตาปฏิกรณ์เดียวกับยูเครน

รัฐมนตรีพลังงานยูเครน กล่าวด้วยว่า “สิ่งนี้จะเอื้อให้ยูเครนกำจัดการผูกขาดของรัสเซียที่ดำเนินอยู่ทุกวันนี้ได้”

ประเทศในยุโรปบางแห่งได้เริ่มตัดสัมพันธ์ในการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซียบ้างแล้ว อย่างที่ฟินแลนด์ได้ยกเลิกข้อตกลงกับรัสเซียในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสวีเดน บริษัทพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติสวีเดน แวตเตนฟอลล์ (Vattenfall) ปฏิเสธที่จะซื้อพลังงานนิวเคลียร์จากรัสเซียทั้งหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกจำนวนมากยังคงพึ่งพารัสเซียในด้านนี้ ส่งผลให้มาตรการลงโทษที่บังคับใช้อาจส่งผลอย่างช้า ๆ กับรัสเซีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่า ทางออกของเรื่องนี้อาจอยู่ที่การหาแหล่งทางเลือกอื่น ๆ และยูเครนก็ตั้งความหวังที่จะเป็นตัวเลือกนั้นให้กับพวกเขาเช่นกัน

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG