ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จับตาความคืบหน้ายาต้านโควิดสี่สูตร ด่านสุดท้ายเอาชนะโรคระบาด ? 


FILE - In this Saturday, July 18, 2020 file photo a general view of AstraZeneca offices and the corporate logo in Cambridge, England. AstraZeneca says late-stage trials of its COVID-19 vaccine were "highly effective'' in preventing disease. A…
FILE - In this Saturday, July 18, 2020 file photo a general view of AstraZeneca offices and the corporate logo in Cambridge, England. AstraZeneca says late-stage trials of its COVID-19 vaccine were "highly effective'' in preventing disease. A…

แอสตราเซเนกา (Astrazeneca) อิไล ลิลลี แอนด์ คัมปานี (Eli Lilly and Company) รีเจเนรอน (Regeneron) และแกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) เป็นสี่บริษัทสำคัญที่พัฒนายาต้านโควิดโดยใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี แอนติบอดีประเภทนี้จะเลียนแบบแอนติบอดีตามธรรมชาติเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ โดยที่โมโนโคลนอลแอนติบอดีที่นำมาใช้นี้ผลิตในห้องปฏิบัติการ

ยาต้านโควิดแตกต่างกับวัคซีนตรงที่ตัวยาจะไม่ต้องพึ่งร่างกายของผู้รับยาเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ทำให้ยาสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้

สำนักข่าวรอยเตอร์รวบรวมข้อมูลความคืบหน้าการพัฒนายาต้านโควิดของสี่บริษัทดังกล่าว

แอสตราเซเนกา (AstraZeneca)

ยา AZD7442 ของบริษัทแอสตราเซเนกา เป็นยาสูตรที่ผสมโมโนโคลนอลแอนติบอดี (แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะต่อความต้องการ) สองสูตร โดยจะให้โดยการฉีดติดกันสองครั้ง มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันและรักษาโรคโควิด-19

5 ตุลาคม : แอสตราเซเนกาขออนุมัติใช้ยาสูตรดังกล่าวเป็นการฉุกเฉินจากทางการสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นยาป้องกันโรค

11 ตุลาคม : ทางบริษัทระบุว่า จะส่งข้อมูลใหม่ของประสิทธิภาพการรักษาของขาให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาทั่วโลก

14 ตุลาคม : หน่วยงานกำกับดูแลยายุโรป (European Medicines Agency) ระบุว่า ได้เริ่มทบทวนประสิทธิภาพการรักษาของยาสูตรนี้แล้ว


ผลการทดลอง

มิถุนายน : แอสตราเซเนการะบุว่า การทดลองยาขั้นสุดท้ายไม่สามารถระบุได้ว่า การรักษาด้วยยาสูตรนี้จะป้องกันไม่ให้ผู้รับยาที่สัมผัสไวรัส ติดเชื้อไวรัสได้หรือไม่

สิงหาคม: การทดลองอีกส่วนระบุว่า การรักษาด้วยยาสามารถลดความเสี่ยงที่ผู้รับยาจะแสดงอาการโรคโควิด-19 ได้ 77 เปอร์เซ็นต์

11 ตุลาคม: ข้อมูลระบุว่า ยา AZD7442 ลดอาการของโรคโควิด-19 ขั้นร้ายแรงหรือการเสียชีวิตได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีอาการของโรคไม่เกินเจ็ดวัน

ข้อตกลงสั่งซื้อยา

มีนาคม: แอสตราเซเนการะบุว่า จะส่งมอบยาไม่เกิน 500,000 โดสให้สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าข้อตกลงเดิมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่เคยตกลงไว้ที่ 200,000 โดส โดยหากได้รับการอนุมัติจากอ.ย. สหรัฐฯ ยาสูตรนี้จะได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นการฉุกเฉิน

รัฐบาลอังกฤษยังทำข้อตกลงเบื้องต้นกับแอสตราเซเนกาในการส่งมอบยากว่า 1 ล้านโดส

อิไล ลิลลี แอนด์ คัมปานี (Eli Lilly and Company)

ยาของอิไล ลิลลี เป็นสูตรผสมของแอนติบอดีสองชนิด คือแบมลานิวิแมบ (bamlanivimab) และเอเทเซวิแมบ (Etesevimab) โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการระดับเบื้องต้นถึงปานกลาง

กุมภาพันธ์: อ.ย. สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้ยาสูตรนี้ได้เป็นการฉุกเฉิน เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคโควิด-19 ขั้นร้ายแรง และยังไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือต้องให้ออกซิเจน

มิถุนายน: กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ ระงับการแจกจ่ายยาสูตรนี้ชั่วคราว หลังยาไม่สามารถแสดงประสิทธิผลต่อเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม หลายรัฐในสหรัฐฯ กลับมาแจกจ่ายยาต่อไปในช่วงปลายเดือนสิงหาคม

กันยายน: อ.ย. สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้ยาสูตรนี้เป็นการฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสไวรัสด้วย

ผลการทดลอง

- ข้อมูลเบื้องต้นของการทดลองขั้นสุดท้ายเมื่อเดือนมกราคมระบุว่า ยาสูตรนี้ลดความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้ 70 เปอร์เซ็นต์

- ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคมของแอนติบอดีแบมลานิวิแมบ ระบุว่า แอนติบอดีตัวนี้สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อของผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชราได้ 80 เปอร์เซ็นต์

ข้อตกลงสั่งซื้อยา
กุมภาพันธ์: สหรัฐฯ ซื้อยาสูตรผสม 100,000 โดส และซื้อยาแอนติบอดีเอเทเซวิแมบ จำนวน 388,000 โดสเมื่อเดือนกันยายน และตั้งเป้าซื้อยาแอนติบอดีแบมลานิวิแมบ 1,450,000 โดส

กันยายน: อิไล ลิลลี ประกาศว่าได้ทำข้อตกลงกับคณะกรรมาธิการยุโรปในการส่งมอบยาไม่เกิน 220,000 โดส

แกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline)

บริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ และบริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir Biotechnology) ร่วมกันพัฒนายาแอนติบอดีโซโตรวิแมบ (sotrovimab)

พฤษภาคม: อ.ย.สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้โซโตรวิแมบเป็นการฉุกเฉินเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยอาการระยะเริ่มต้นถึงปานกลางที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

มิถุนายน: หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาของสหภาพยุโรป อนุมัติให้ใช้ยาสูตรนี้ในผู้ป่วยที่เสี่ยงเป็นโรคขั้นร้ายแรงที่ไม่ต้องให้ออกซิเจน

กันยายน: ญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ยาสูตรนี้เพื่อรักษาโรคโควิด-19

ผลการทดลอง

ข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนระบุว่า ยาสูตรนี้มีประสิทธิผล 79 เปอร์เซ็นต์ ในการลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกินกว่า 24 ชั่วโมง รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย

ข้อตกลงสั่งซื้อยา

สหภาพยุโรปทำสัญญากับแกล็กโซสมิธไคลน์เมื่อเดือนกรกฎาคม สั่งซื้อยาโซโตรวิแมบไม่เกิน 220,000 โดส ทางบริษัทยังทำสัญญาจัดส่งยา 10,000 โดสให้แคนาดาด้วย


รีเจเนรอน (Regeneron)

ยาแอนติบอดีแบบผสม โรนาพรีฟ (Ronapreve) ซึ่งเป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ ในชื่อ รีเจน-คอฟ (REGEN-COV) เป็นยาที่ร่วมผลิตโดยบริษัทรีเจเนรอนและบริษัทโรช (Roche) เป็นยาสูตรผสมระหว่างแอนติบอดีสองชนิด ได้แก่ คาซิริวิแมบ (casirivimab) และ อิมดีวิแมบ (imdevimab) โดยยาสูตรนี้สามารถให้ได้ทั้งโดยการฉีดยาและการให้ยาทางหลอดเลือด

- ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่อนุมัติยาสูตรนี้เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ตามมาด้วยสหรัฐฯ และอังกฤษ

- รีเจน-คอฟ ได้รับการอนุมัติแบบฉุกเฉินในประเทศกว่า 20 ประเทศ เพื่อป้องกันและรักษาโรคโควิด-19

- เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม หน่วยงานกำกับดูแลยาของสหภาพยุโรประบุว่า กำลังประเมินยาสูตรนี้เพื่อรักษาและป้องกันโรคโควิด-19

ผลการทดลอง

- ผลการทดลองขั้นสุดท้ายเมื่อเดือนมิถุนายนระบุว่า ยาสูตรนี้ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีระบบภูมิคุ้มกันล้มเหลว

- เมื่อเดือนเมษายน มีข้อมูลระบุว่า ยาเรเจน-คอฟ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้ 81 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้ที่พักอาศัยร่วมกับผู้ที่มีอาการป่วย

- ยาสูตรนี้ยังมีประสิทธิผลต่อการป้องกันโรคโควิด-19 ในผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ในขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นระบุว่า ยาสูตรนี้อาจมีประสิทธิผลต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เบตา


ข้อตกลงสั่งซื้อยา

- นับจนถึงเดือนกันยายน รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งซื้อยาสูตรนี้แล้วเกือบ 3 ล้านโดส

- เมื่อเดือนมิถุนายน สหภาพยุโรปสั่งซื้อยา 55,000 โดสให้ประเทศยุโรป 37 ประเทศ รวมทั้งอังกฤษและประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

XS
SM
MD
LG