ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิกฤตโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนาสร้างแรงกดดันระงับใช้ 'สิทธิบัตรวัคซีน'


Vials of the AstraZeneca and Pfizer-BioNTech Comirnaty coronavirus disease (COVID-19) vaccines are pictured in a General practitioners practice in Berlin, Germany, April 10, 2021.
Vials of the AstraZeneca and Pfizer-BioNTech Comirnaty coronavirus disease (COVID-19) vaccines are pictured in a General practitioners practice in Berlin, Germany, April 10, 2021.
Covid Crisis Raise Pressure to Waive Vaccine Patents
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:50 0:00

เมื่อวันศุกร์ปลายสัปดาห์ที่แล้ว องค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้หารือข้อเสนอจากประเทศกำลังพัฒนาราว 60 ประเทศที่นำโดยอินเดียและแอฟริกาใต้ ที่ขอให้บริษัทยาข้ามชาติและรัฐบาลของกลุ่มประเทศตะวันตกยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 ชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการผลิตและเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

เพราะขณะที่ราว 30% ของประชากรในสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วสองเข็ม ในอินเดียเองมีเพียง 2% เท่านั้นซึ่งเพิ่งได้รับวัคซีน และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง อย่างเช่น อินเดีย บราซิล ตุรกี และโคลอมเบีย ทำให้เกิดความกังวลว่าการระบาดอาจจะยากต่อการควบคุมและอาจส่งผลให้เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ ด้วย

ขณะนี้กำลังมีแรงกดดันจากประเทศกำลังพัฒนากว่า 100 ประเทศให้มีการยกเว้นหรือระงับการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19

โดยเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้หารือข้อเสนอของประเทศกำลังพัฒนากว่า 60 ประเทศที่ร่วมกันเรียกร้องให้ยกเว้นกฎเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการผลิตวัคซีนสนองความต้องการได้มากขึ้นในระดับโลก

และเมื่อต้นเดือนนี้ ก็มีอดีตประมุขของรัฐและผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลรวมกว่า 170 คนร่วมกันเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สนับสนุนข้อเสนอที่ว่านี้ด้วย

ในสหรัฐฯ เอง ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภากว่า 100 คนที่รวมถึงวุฒิสมาชิก Bernie Sanders กับวุฒิสมาชิก Elizabeth Warren ร่วมแสดงจุดยืนสนับสนุนเรื่องการยกเว้นกฎเกณฑ์ข้อบังคับเกี่ยวกับสิทธิบัตรสำหรับวัคซีนดังกล่าว และให้เหตุผลว่า การชะลอการกระจายวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาของโลกเพื่อมุ่งสร้างผลกำไรจากกลไกการคุ้มครองสิทธิบัตร จะเป็นภัยซึ่งย้อนกลับมาคุกคามต่อสาธารณชนอเมริกันที่ได้สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนด้วยเงินภาษีอากรตั้งแต่เริ่มแรกด้วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยแล้วหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้แย้งว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อสร้างแรงกระตุ้นจูงใจบริษัทเภสัชกรรมต่าง ๆ ให้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต่อไป

และในส่วนของบริษัทเภสัชกรรมเองก็อ้างว่า การยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 จะไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผลิตวัคซีนเพื่อสนองความต้องการในระยะสั้นได้ เพราะผู้ที่ผลิตตามสัญญาจ้างนั้นยังไม่มีความรู้และความคุ้นเคยเกี่ยวกับกระบวนการและเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้เพื่อผลิตวัคซีน และว่า อุปสรรคสำคัญที่แท้จริงของการผลิตวัคซีนให้ได้เพียงพอนั้น คือเจ้าหน้าที่เทคนิคที่มีความรู้ความชำนาญอย่างเพียงพอ องค์ประกอบหลักของวัคซีนซึ่งหาได้ยาก รวมทั้งเรื่องการควบคุมคุณภาพด้วย

เมื่อเดือนมีนาคม บริษัทเภสัชกรรมข้ามชาติรายใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 อย่างเช่น AstraZeneca, Pfizer และ Johnson & Johnson ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนคัดค้านข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 ดังกล่าว และว่า ภายใต้ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นอยู่ขณะนี้ บริษัทยาทั้งหลายมีกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้รวมกันถึงหนึ่งหมื่นล้านโดสภายในสิ้นปีนี้

ทางด้านทำเนียบขาว Jen Psaki โฆษกทำเนียบขาว ได้แถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าประธานาธิบดีไบเดนยังไม่ได้ตัดสินใจว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนข้อเสนอที่ขอให้ยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตรสำหรับวัคซีนโควิด-19 หรือจะผลักดันวิธีอื่นเพื่อเร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้ได้ตามเกณฑ์ที่ต้องการ

ในขณะที่ก็มีรายงานเช่นกันว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังให้ความสนใจกับข้อเสนอเพื่อยกเว้นการบังคับใช้สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของวัคซีนโควิด-19 ที่ว่านี้เป็นการชั่วคราว

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์ Deborah Glee Son จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัย La Trobe ในออสเตรเลีย ก็ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้จะมีส่วนช่วยสร้างแรงผลักดันไปในทิศทางที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องได้มากทีเดียว

XS
SM
MD
LG