ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ดนตรีจากโครงสร้างโควิด-19


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:43 0:00

ในช่วงที่การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ยังดำเนินอยู่ และสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก ความกลัวอาจทำให้สถานการณ์ดูสับสนและน่ากลัวไม่รู้จบ แต่นักวิทยาศาสตร์ต้องการที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ทั่วโลกนี้ และเลือกใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ (AI) สร้างเสียงดนตรีจากโครงสร้างโปรตีนของไวรัส

และเพื่อให้เกิดเสียงดนตรี นักวิทยาศาสตร์จับคู่โน้ตดนตรีให้กับกรดอะมิโนอยู่ในโปรตีนที่รับผิดชอบการติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ จากนั้น ใช้ AI เปลี่ยนโปรตีนทั้งหมดให้กลายเป็นท่วงทำนองดนตรีคลาสสิคยาวเกือบ 2 ชั่วโมง

มาร์คัส บิวห์เลอร์ จาก สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ หรือ MIT ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สว่า การเปลี่ยนข้อมูลโปรตีนให้กลายเป็นดนตรีนี้ จะช่วยให้ผู้คนเปิดใจเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นได้ดีขึ้น เพราะหูของเราสามารถเข้าใจดนตรีที่ไม่ต้องบรรเลงนานได้ง่ายกว่าการนั่งดูภาพจำนวนมากเพื่อเข้าใจไวรัสนี้

บิวห์เลอร์ บอกว่า แม้ว่าโปรตีนตัวร้ายเหล่านี้จะ “พูดภาษาที่คนเราไม่อาจเข้าใจได้” แต่ดนตรี คือ สื่อที่สามารถช่วยให้เรารู้จักพวกมันดีขึ้นได้ และความเข้าใจนี่เองที่จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ และไม่ใช่เฉพาะโรคนี้ แต่โรคอื่นๆ ด้วย

หลังจากทีมวิจัยบันทึกเพลงโควิด-19 เสร็จ ก็ทำการอัพโหลดขึ้นเว็บไซท์ SoundCloud ที่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปลองฟังฟรีๆ เรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวได้ลองสอบถามคนที่ได้ฟังดนตรีจากไวรัสนี้ โดยเฉพาะช่วงต้นๆ ของเพลง และความรู้สึกที่ได้ก็มีทั้ง “ไพเราะดี” “น่าสนใจ” “ฟังแล้วรู้สึกสงบ” รวมทั้ง “นึกถึงธรรมชาติ” เป็นต้น

นักวิจัยบอกว่า ช่วงต้นๆ ของเพลงนั้นสื่อให้เห็นถึงการที่โปรตีนตัวร้ายสามารถบุกเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์อย่างง่ายดายได้เพียงใด ซึ่งควรทำให้คนเข้าใจว่า โคโรนาไวรัสนั้นมีความสามารถในการติดต่อสูงจริงๆ เพราะในทางวิทยาศาสตร์ มีการค้นพบแล้วว่า ไวรัสนั้นมีความสามารถในการแทรกตัวเข้าไปในเซลล์ต่างๆ ได้เพื่อทำให้เจ้าของเซลล์นั้นป่วยได้ง่ายมาก

และหลังจากไวรัสเข้าไปในเซลล์สำเร็จ ก็จะเกิดการแบ่งตัว ซึ่งทำให้ดนตรีนั้นเริ่มดังขึ้น ดำเนินท่วงทำนองที่เร็วขึ้น และเริ่มหนักหน่วงขึ้น

ผู้ที่ได้ฟังเพลงจากไวรัสถึงช่วงดังกล่าว บอกว่า เริ่มสามารถบอกได้ว่า นี่คือช่วงที่มนุษย์เริ่มมีอาการป่วย และอุณหภูมิร่างกายเริ่มสูงขึ้น ขณะที่บางคนเรียกช่วงนี้ว่า “น่ากลัว” และ “น่าเศร้า”

และหลังประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจในไวรัสด้วยเสียงดนตรีแล้ว ทีมนักวิจัย เปิดเผยว่า แผนในช่วงต่อไปคือ การใช้ดนตรีช่วยออกแบบ สารภูมิต้านทาน หรือ antibody เพื่อเอาไว้ต่อสู้กับไวรัสร้ายๆ

บิวห์เลอร์ บอกว่า การที่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คนเราควรเร่งทำความเข้าใจสถานการณ์ให้เร็วขึ้น ด้วยการเปิดสมองและหาทางรับรู้และศึกษาข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อปกติแล้ว การสร้างสารภูมิต้านทานนั้น ต้องใช้โปรตีนจำนวนมากและใช้เวลายาวนานกว่าจะสำเร็จ

อย่างไรก็ดี การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า การใช้ดนตรีเป็นตัวแทนโปรตีนตัวร้าย น่าจะเป็นหนทางที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเร่งออกแบบโปรตีนแบบใหม่ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับงานด้านชีววิทยา การแพทย์ และวิศวกรรม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติได้ต่อไปด้วย

XS
SM
MD
LG