ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ค่าเงินตราหลายประเทศตกต่ำ สร้างความกังวลเรื่องวิกฤติการเงินที่อาจลุกลาม


An electronic board shows currency exchange rates, in Buenos Aires' financial district in Argentina, Sept. 4, 2018.
An electronic board shows currency exchange rates, in Buenos Aires' financial district in Argentina, Sept. 4, 2018.

นักวิเคราะห์ชี้สามปัจจัยซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาลดลง 29% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งนับเป็นการตกต่ำที่สุดในบรรดาค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ส่วนค่าเงินลีร่าของตุรกีก็ตามมาเป็นอันดับสอง คือตกลง 25% และค่าเงินรูเปียะของอินโดนีเซียก็อ่อนตัวที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 21 ปีที่แล้วเช่นกัน

การลดลงของค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจโตเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินลีร่าของตุรกีซึ่งอ่อนตัวลง 40% ในปีนี้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่ธนาคารและภาคธุรกิจของตุรกีกู้ยืมจากต่างประเทศในรูปของเงินดอลลาร์

โดยขณะนี้ นักค้าเงินตรากำลังติดตามดูว่าจะมีประเทศอื่นๆ รวมอยู่ในรายชื่อที่ต้องจับตามองหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประเทศซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่พัฒนามากกว่า เช่น ชิลี โปแลนด์ และฮังการี ซึ่งมีภาระหนี้สินในรูปเงินตราต่างประเทศกว่า 50% ของยอดจีดีพี ต้องพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

นักวิเคราะห์ค่อนข้างมีความเห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่กำลังปั่นป่วนจากแนวโน้มสำคัญสามเรื่อง

หนึ่ง คือ โอกาสการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และประเทศอื่นๆ

สอง คือ อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น ทำให้เงินไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา เพราะจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่า

สาม คือ สภาพคล่องในตลาดการเงินที่ลดลง หลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ และยุโรป ลดมาตรการอัดฉีดเงินหรือการผ่อนคลายเชิงปริมาณลง

คำถามสำคัญในขณะนี้ก็คือ วิกฤติด้านการเงินในประเทศเศรษฐกิจโตเร็วเหล่านี้จะจำกัดและสามารถควบคุมได้ภายในแต่ละประเทศ หรือจะขยายตัวลุกลามส่งผลถึงประเทศอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็มีความเห็นต่างกันไป

อย่างคุณ Marcus Ashworth ของ Bloomberg ผู้เคยเป็นหัวหน้านักวางแผนตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ Haitong ที่กรุงลอนดอน เชื่อว่า ปัญหาที่เริ่มในประเทศหนึ่ง มักจะกลายเป็นภาระของประเทศอื่นได้ง่าย

แต่นักวิเคราะห์บางคนก็มองว่า ปัญหาเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากลักษณะเฉพาะและความท้าทายของแต่ละประเทศ จึงไม่น่าจะส่งผลลุกลามในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่าปัญหาข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ อาจกระตุ้นการไหลออกของเงิน โดยเฉพาะจากประเทศที่มีหนี้สินต่างประเทศจำนวนมาก และนำไปสู่ปัญหาวิกฤตทางการเงินได้

นอกจากนั้น ความเสี่ยงสำคัญที่สุดสำหรับประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโตขณะนี้ ก็คือ ความปั่นป่วนทางการเงินอาจทำให้นักลงทุนทั่วโลกละเลยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และหนีออกจากประเทศดังกล่าว

ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นตกต่ำลง เพิ่มความกดดันเรื่องภาระหนี้สิน และกระตุ้นให้เกิดปัญหาวิกฤตที่ลุกลามอย่างที่เคยเกิดขึ้นได้เช่นกัน

XS
SM
MD
LG