ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เอเชียไม่หวั่น "วิกฤตค่าเงิน" หลังสงครามการค้าปะทุ


US dollar, Indonesian rupiah and Chinese renminbi currencies are displayed in the poster of a money exchange shop in Jakarta on June 12, 2013.
US dollar, Indonesian rupiah and Chinese renminbi currencies are displayed in the poster of a money exchange shop in Jakarta on June 12, 2013.

ในปีนี้ค่าเงินสกุลเอเชียอ่อนค่าหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ปะทุขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่ฝั่งนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่า บรรดาผู้กำหนดนโยบายการเงินการคลังของฝั่งเอเชีย พร้อมรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้อย่างดี จากบทเรียนราคาแพงของวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นหลายระลอกในอดีต

ช่วงต้นปีนี้ เราได้เห็นการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนของจีน รูปีของอินเดีย รูเปียของอินโดนีเซีย ค่าเงินจ๊าดของเมียนมา โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ค่าเงินรูปีอ่อนค่าหนักสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ค่าเงินหยวนของจีนก็อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 3.2

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ไว้หลากหลาย อย่างรูปีที่อ่อนค่าหนัก มาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเข้าไปเพิ่มต้นทุนการนำเข้าน้ำมันในประเทศ ส่วนค่าเงินจ๊าดในเมียนมาที่อ่อนค่าหนัก มาจากการนำเข้าสินค้าต่างประเทศและการกักตุนเงินดอลลาร์ของชาวเมียนมา

ด้านนายซง เซง วุน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร CIMB ในสิงคโปร์ บอกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมีจุดเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ค่าเงินลีราของตุรกีที่อ่อนค่ามากเป็นประวัติการณ์ จากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯและตุรกี และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จีนเพิ่งประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มอีก 16,000 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ที่ทำให้เกิดความกังวลในการลงทุนฝั่งเอเชียมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม แมรี ดิรอน กรรมการผู้จัดการ Moody’s Investors ในสิงคโปร์ มองว่า ผู้ดูแลด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายประเทศในเอเชีย ต่างผ่านบทเรียนจากวิกฤตค่าเงินที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013, 2015 และ 2016

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินที่อ่อนค่าในช่วงนี้ กรรมการผู้จัดการ Moody’s Investors ในสิงคโปร์ มองว่า ธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชีย รับมือกับค่าเงินที่อ่อนค่าได้ดี ตั้งแต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน ในอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้ค่าเงินของประเทศกลุ่มนี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศในการสมดุลค่าเงินที่ผันผวน ควบคู่ไปกับการควบคุมการขาดดุลงบประมาณของประเทศ ซึ่งหลายประเทศในเอเชียสามารถรับมือได้ดีกว่าวิกฤตค่าเงินในอดีต

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร CIMB มองว่า ค่าเงินสกุลเอเชียที่อ่อนค่าในช่วงนี้ ยังไม่ถึงระดับที่น่ากังวล ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้ประโยชน์จากภาคการส่งออกในระดับค่าเงินที่อ่อนค่าในช่วงนี้

(นีธิกาญจน์ กำลังวรรณ เรียบเรียงบทความจาก Ralph Jennings จากกรุงไทเป ไต้หวัน)

XS
SM
MD
LG