ที่นอกชายฝั่งของเมืองไมอามี ทีมนักประดาน้ำกำลังปักกิ่งปะการังลงบนพื้นทะเล กิ่งปะการังเหล่านี้ตัดมาจากสวนเพาะเลี้ยงปะการังที่มหาวิทยาลัยไมอามี่
ดัลตัน เฮสลีย์ (Dalton Hesley) หัวหน้าโครงการฟื้นฟูปะการัง กล่าวว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซึ่งกำลังทำการฟื้นฟูปะการังที่เสียหาย ค้นพบว่าปะการังจะเติบโตรวดเร็วกว่าปกติหากตัดให้เป็นกิ่งเล็กๆ ก่อนนำไปปลูกด้วยการปักชำลงในกอปะการังใต้ท้องทะเล
เฮสลีย์ บอกว่างานในห้องทดลองแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว โดยใช้กิ่งปะการังตัดเท่าขนาดนิ้วมือ 30 ชิ้นเท่านั้น ทีมงานได้เลี้ยงกิ่งปะการัง 30 ชิ้นให้เติบโตเเละขยายจำนวน ตอนนี้มีมากกว่า 3,500 ชิ้นในสวนเพาะเลี้ยงปะการัง
ทีมงานสามารถตัดกิ่งปะการังใหม่ได้หลายร้อยชิ้นต่อสัปดาห์ เพื่อนำไปปลูกลงในเเนวปะการังในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเติบโตของปะการังตามเเนวธรรมชาติ
ทีมงานได้นำกิ่งปะการังไปปลูกในทะเลเเล้วมากกว่า 11,000 ชิ้น เเต่กิ่งปะการังเหล่านี้ก็เจอกับสภาพน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้เเนวปะการังทั่วโลกเสียหายเเละตายลง
ทีมงานวิจัยไม่ต้องการให้งานที่ทำมาเสียเปล่า จึงร่วมมือกับ แอนดรูว์ เบคเคอร์ (Andrew Baker) นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเเห่งไมอามี
เบคเคอร์ กล่าวว่า เเทนที่จะปลูกกิ่งปะการังชุดใหม่ในทะเลทั้งๆ ที่รู้ว่าปะการังอาจจะตายเพราะน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ทีมงานได้พัฒนาให้กิ่งปะการังที่มีความทนทานต่อความร้อนมากขึ้นเพื่อให้อยู่รอดได้
ปะการังได้อาหารเเละสีสันที่สวยงามจากสาหร่ายที่มาอยู่ร่วมกันกับปะการัง เเต่เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้น ปะการังจะสูญเสียสาหร่ายที่อยู่ร่วมกันไป ปะการังกัดขาวเหล่านี้จะไม่มีชีวิตอยู่ได้นาน เเต่ Baker กล่าวเสริมว่า “ภาวะกัดขาว” ให้โอกาสแก่ปะการังในการมีสาหร่ายชนิดใหม่เข้ามาอยู่ร่วมด้วย ซึ่งอาจมีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น
ห้องทดลองของเบคเคอร์ เน้นสร้างสภาพเเวดล้อมที่คุกคามต่อปะการัง เเล้วคัดเลือกปะการังที่อยู่รอดได้ดีที่สุด เขากล่าวว่า ทีมงานพบว่าเเม้ปะการังจะเกิดภาวะกัดขาวอย่างรุนเเรงเมื่อหลายเดือนก่อน เเต่กลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเเละเริ่มขยายแตกกิ่งก้านใหม่เพิ่มขึ้นเเล้ว
ในขั้นต่อไป ทีมงานจะเริ่มปลูกปะการังที่ทนทานต่อความร้อนนี้ในเเนวปะการังที่เสียหาย เเละดูว่าจะได้ผลอย่างไร ทีมนักวิจัยมีความหวังว่าจะสามารถช่วยให้ปะการังมีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น เเต่พวกเขารู้ดีว่าคงทำอะไรได้ไม่มากกว่านี้
ทีมนักวิจัยได้รับสมัครอาสาสมัครเพื่อช่วยในการฟื้นฟูปะการังขึ้นใหม่ ทีมงานสอนให้อาสาสมัครเข้าใจถึงความจำเป็นในการหาทางออกเเก่ปัญหาภาวะโลกร้อน เเละพวกเขาหวังว่านักวิทยาศาสตร์ประชาชนเหล่านี้จะช่วยเผยเเพร่ความตื่นตัวในเรื่องนี้ต่อไป
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)