ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'สี จิ้นผิง' เดินทางเยือนทิเบต ท่ามกลางการเข้าควบคุมศาสนาที่เพิ่มขึ้นของจีน


In this Tuesday, Oct. 1, 2019 file photo, participants cheer beneath a large portrait of Chinese President Xi Jinping during a parade to commemorate the 70th anniversary of the founding of Communist China in Beijing.
In this Tuesday, Oct. 1, 2019 file photo, participants cheer beneath a large portrait of Chinese President Xi Jinping during a parade to commemorate the 70th anniversary of the founding of Communist China in Beijing.

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางไปทิเบต ซึ่งเป็นการเดินทางที่มีให้เห็นไม่บ่อยนัก ในช่วงเวลาที่ทางการจีนเพิ่มการควบคุมวัฒนธรรมพุทธศาสนาดั้งเดิมของทิเบต ในขณะเดียวกับที่มีการเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของดินแดนในเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้

สื่อของรัฐบาลจีนได้รายงานในวันศุกร์ว่า สี จิ้นผิงได้เดินทางไปสถานที่สำคัญหลายแห่งในนครลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบต รวมไปถึง วัดเดรปุง (Drepung Monastery) ถนนปาร์กอร์ (Barkhor) และจัตุรัสที่เป็นฐานของพระราชวังโปตาลา (Potala Palace) ซึ่งเคยเป็นที่ประทับขององค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางการเมืองของทิเบต

การเดินทางครั้งนี้ของผู้นำจีน ไม่มีการประกาศต่อสาธารณชนมาก่อน และไม่มีรายงานชัดเจนว่าสี จิ้นผิงได้เดินทางกลับไปยังกรุงปักกิ่งหรือยัง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้เพิ่มการควบคุมวัดในทิเบตมากขึ้น และขยายการศึกษาภาษาจีน มากกว่าภาษาทิเบต ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวของจีนมักจะถูกจับกุมตัวและบางครั้งถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหากถูกตัดสินว่ามีความเกี่ยวข้องกับองค์ดาไลลามะ

ปัจจุบันองค์ดาไลลามะซึ่งทรงมีพระชนมายุ 86 พรรษา ทรงลี้ภัยอยู่ในประเทศอินเดีย พระองค์ได้หลบหนีออกจากทิเบต หลังจากเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของจีนเมื่อ 62 ปีก่อน (ปี ค.ศ.1959)

FILE - Tibetan spiritual leader the Dalai Lama greets devotees as he arrives to give a religious talk at the Tibetan Children's Village School in Dharmsala, India.
FILE - Tibetan spiritual leader the Dalai Lama greets devotees as he arrives to give a religious talk at the Tibetan Children's Village School in Dharmsala, India.

จีนไม่ยอมรับการประกาศจัดตั้งรัฐบาลทิเบตต่างถิ่น ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย และกล่าวหาองค์ดาไลลามะว่าต้องการแยกทิเบตออกจากจีน

ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวในทิเบตได้ขยายตัวขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ สี จิ้นผิง รับตำแหน่งผู้นำจีนเมื่อเก้าปีก่อน มีการก่อสร้างสนามบินใหม่ รางรถไฟ และทางหลวงหลายสาย

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่าขณะที่อยู่ที่นครลาซาในวันพฤหัสบดี สี จิ้นผิงได้ “เรียนรู้เกี่ยวกับกิจการภายในด้านเขื้อชาติและศาสนา การอนุรักษ์เมืองโบราณ มรดกของทิเบต และการดูแลคุ้มครองวัฒนธรรมทิเบต”

หนึ่งวันก่อนหน้านั้น สี จิ้นผิงได้ไปเยือนเมือง หนิงฉี เพื่อตรวจดูงานอนุรักษ์นิเวศนวิทยาในบริเวณลุ่มแม่น้ำยางลุงซางโป (Yarlung Zangbo) ซึ่งอยู่เหนือบริเวณที่จีนกำลังก่อสร้างเขื่อนที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์​อีกด้วย

ผู้นำจีนยังได้ตรวจสอบงานก่อสร้างสะพานและโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่เชื่อมต่อกับทิเบต ก่อนที่จะขึ้นรถไฟฟ้าสายแรกของทิเบตจากเมือง หนิงฉี ไปยังนครลาซา หลังจากที่เปิดทำการเมื่อเดือนก่อน

การเยือนทิเบตของสี จิ้นผิงครั้งนี้ ตรงกับวาระครบรอบ 70 ปีของการทำข้อตกลง 17 ข้อ ที่ทำให้จีนมีอำนาจควบคุมทิเบต ซึ่งชาวทิเบตมองว่าทิเบตเป็นดินแดนอิสระมาเป็นเวลานานในประวัติศาสตร์ของประเทศ​ ส่วนองค์ดาไล ลามะ ทรงกล่าวว่าท่านถูกบังคับให้ลงนามในสัญญาฉบับนั้น และหลังจากนั้นก็ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อตกลงดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดกับทิเบตเริ่มย่ำแย่ลง โดยในปีก่อนหน้านี้ ความขัดแย้งระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศในบริเวณชายแดน ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งสองที่อ่อนไหวอยู่แล้วย่ำแย่มากขึ้น

ซึ่งความขัดแย้งครั้งนั้น ดูเหมือนว่าจะทำให้นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ออกมากล่าวอวยพรองค์ดาไล ลามะ ผ่านทางทวิตเตอร์เนื่องในวันเกิดของพระองค์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม และยังกล่าวด้วยว่าเขาได้โทรศัพท์คุยกับองค์ดาไลลามะอีกด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่นายโมดี ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่ามีการพูดคุยกับองค์ดาไลลามะ ตั้งแต่เขาเข้ามารับตำแหน่งผู้นำอินเดียเมื่อ 7 ปีก่อน

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อทิเบต International Campaign for Tibet ซึ่งมีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ว่าการเดินทางไปทิเบตของ สี จิ้นผิงครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทิเบตยังคงมีความสำคัญในการกำหนดนโยบายของจีน การจัดการเยือนครั้งนี้ และการที่ไม่มีการทำข่าวโดยสื่อของรัฐในทันที แสดงให้เห็นว่า ทิเบตยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และทางการจีนเองก็ยังไม่มั่นใจว่าจีนมีความถูกต้องชอบธรรมในการปกครองประชาชนทิเบตหรือไม่

XS
SM
MD
LG